แผนแม่บทสนามบิน 4 แสนล. ทอท.ชงบอร์ดเพิ่มแผนลงทุนทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิ

21 ก.พ. 2560 | 08:00 น.
ทอท.ชงบอร์ด 22 กุมภาพันธ์นี้ ปรับปรุงและสรุปภาพรวมมาสเตอร์แพลน 6 สนามบิน ลงทุน 4 แสนล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่เคยอนุมัติแผนลงทุน 10 ปี 2 แสนล้านบาท โดยชงแผนพัฒนาพื้นที่ทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิทั้งหารือถึงการแยกสัญญาจ้างงาน CC2 ของเฟส 2 สุวรรณภูมิ

การจัดทำแผนลงทุนด้านการคมนาคมของไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในส่วนของการพัฒนาสนามบินหลักของไทย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะใช้งบลงทุนร่วม 4 แสนล้านบาทสำหรับการขยายศักยภาพสนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือทอท. ทั้ง 6 แห่งที่จะเกิดขึ้น

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการประชุมบอร์ดทอท.ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการปรับปรุงและสรุปภาพรวมการลงทุนตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 4 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มเติมแผนการลงทุนเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิสูงสุดเต็มศักยภาพ(อัลติเมต เฟส) และการทบทวนแผนการลงทุนของสนามบินดอนเมือง รวมมูลค่าการลงทุนราว 2 แสนล้านบาท เพิ่มเติมจากเดิมที่ก่อนหน้านี้ที่บอร์ดได้เห็นชอบการลงทุนตามแผนแม่บทการพัฒนาทั้ง 6 สนามบินในช่วง 10 ปี มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทไปแล้ว

[caption id="attachment_131257" align="aligncenter" width="503"] แผนแม่บทสนามบิน 4 แสนล. ทอท.ชงบอร์ดเพิ่มแผนลงทุนทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิ แผนแม่บทสนามบิน 4 แสนล. ทอท.ชงบอร์ดเพิ่มแผนลงทุนทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิ[/caption]

แผนการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นมาอีก 2 แสนล้านบาท ที่จะขออนุมัติบอร์ดทอท.หลักๆจะเป็นในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ด้านทิศใต้ของสนามบินสุวรรณภูมิ(ด้านฝั่งถนนบางนา- ตราด)เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 120 ล้านคนต่อปี โดยตามแผนจะเป็นก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 (เซาธ์เทอร์มินัล) อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่2 ซึ่งหลังบอร์ดเห็นชอบก็จะเสนอแผนดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมต่อไป

“มาสเตอร์แพลนสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ก่อนหน้านี้บอร์ดทอท.ได้อนุมัติไป มีเฉพาะแผนลงทุนทางวิ่งเส้นที่ 3 และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งจะเป็นแผนลงทุนต่อเนื่องกับโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ2554-2560) หรือเฟส 2 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานในขณะนี้และในช่วง 10 ปีนี้แต่จริงๆแผนพัฒนาด้านทิศใต้ของสนามบิน ที่จะมีเซาธ์เทอร์มินัล และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 เป็นแผนดั้งเดิมที่วางไว้มาตั้งแต่ต้นเริ่มสร้างสนามบิน”

ดังนั้นการจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิของทอท.ที่เกิดขึ้น จึงต้องทำให้ครอบคลุมแผนการลงทุนของสนามบินสุวรรณภูมิทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่การลงทุนจริงในส่วนการพัฒนาพื้นที่ด้านทิศใต้ที่จะเกิดขึ้นก็ต้องรอหลังจาก 10 ปีนี้ไปเพราะการลงทุนของสนามบินสุวรรณภูมิในช่วง 10 ปีนี้ ก็ยังคงต้องยึดแผนการลงทุนที่บอร์ดได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจะทำให้ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 45 ล้านคนต่อปีเป็น 90 ล้านคนต่อปี นั่นก็คือโครงการเฟส 2 สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปี และโครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 30 ล้านคนต่อปี

ส่วนการทบทวนแผนแม่บทการลงทุนของสนามบินดอนเมืองจะมีการพิจารณาถึงแผนพัฒนาทางทิศใต้ของสนามบิน เพื่อรองรับเครื่องบินที่มาจอดค้างคืนที่มีเพิ่มขึ้นโดยจะมองว่าพื้นที่คลังสินค้าที่มีอยู่อาจมีมากเกินความต้องการในการใช้งาน ก็ควรจะต้องปรับพื้นที่คลังสินค้าบางส่วน มาทำเป็นหลุมจอดอากาศยาน จะรองรับความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า
นายนิตินัย ยังกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในการประชุมบอร์ดในวันดังกล่าว ยังจะมีการหารือถึงไทม์ไลน์ล่าสุดการลงทุนในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ซึ่งจะมีการหารือถึงการแยกสัญญาจ้างCC2 (งานก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก,อาคารสำนักงานสายการบิน และที่จอดรถด้านทิศตะวันออก) โดยจะขอแยกออกเป็น 2 สัญญา คือ เป็นงานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก และงานก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก

เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับแผนการย้ายการให้บริการของการบินไทย และแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จึงต้องหารือในบอร์ดว่าจะเปิดหน้างานไปพร้อมกัน ซึ่งก็ให้บริการไปด้วยและก่อสร้างไปด้วย เพื่อให้โครงการเสร็จเร็ว ก็ไม่ต้องแยกสัญญา แต่จากประสบการณ์การพัฒนาสนามบินภูเก็ตพร้อมกับการให้บริการไปพร้อมๆกัน ก็จะเห็นว่ามีผลกระทบด้านการให้บริการมาก หรือควรจะแยกสัญญา เพื่อให้ก่อสร้างในส่วนที่ดำเนินการได้ทันทีก่อนอย่างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถ ส่วนการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ก็มาทำทีหลังเมื่อหน้างานพร้อม

สำหรับสัญญาจ้างอื่นๆในโครงการเฟส2 สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ยังเหลือ คือ งานCC1/2 (งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1ชั้น 2-4 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ น่าจะจัดหาดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาได้ในเดือนเมษายนนี้ งานCC4 (จัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ(APM) จะเปิดซองราคาได้ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ ส่วนงานCC5 (งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS)และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด(EDS) ขาออก ก็จะดำเนินการจัดหาผู้ดำเนินการในอีก 2-3 เดือนนี้

ส่วนสัญญาCC1/1 (งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 ชั้นB2 ชั้น B1 และชั้น G งาน CC3 งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างตามแผน โดยมีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาSCS เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างCSC

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560