แนะไทยชิงจังหวะ สร้างโอกาสฮับซ่อมบำรุงอาเซียน

21 ก.พ. 2560 | 14:00 น.
จากการศึกษาของบริษัท โบอิ้ง พบว่า อุตสาหกรรมการบินของโลกในระยะ 20 ปีนับจากนี้จะมีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีจำนวนอากาศยานในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็น 3 เท่า ผลศึกษาชี้ว่าระหว่างปีค.ศ. 2015-2034 ทั่วโลกจะมีการส่งมอบเครื่องบินใหม่ 38,050 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการส่งมอบให้กับภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น การเติบโตของตลาดการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้จึงมีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทยเองนั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอากาศยานเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ “ประเทศไทย 4.0” ที่เน้นการเพิ่มคุณค่าและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม แผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของไทยที่มีเป้าหมายพัฒนาศูนย์กลาง (ฮับ) การซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในอาเซียนและมหานครการบิน (Aeropolis) ในพ.ศ. 2575 นับเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องอาศัยความสนับสนุนในทุกๆ ด้านทั้งจากภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกัน การมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวก็นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวด

 เพิ่มR&D ยกระดับคุณภาพ

นาย ร็อบ ฮิกบี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เทอร์ไบน์แอโร อิงค์ฯผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบริการซ่อมบำรุงและผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ให้ความเห็นว่า แม้ปัจจุบันศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอากาศยานอาเซียนจะอยู่ที่สิงคโปร์ แต่ไทยก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของภูมิภาคได้ภายใต้การส่งเสริมของรัฐบาลไทยและหน่วยงานอย่างบีโอไอ ที่พยายามสร้างแรงจูงใจทำให้ประเทศไทยน่าดึงดูดใจมากขึ้นในสายตานักลงทุนนานาชาติ บริษัทเองแม้จะมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ก็เข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในจังหวัดชลบุรีมากกว่า 10 ปีแล้ว โดยเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงฯที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันต่างๆในระดับโลก เขาเห็นด้วยว่ายุทธศาสตร์ของไทยที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D)ด้านเทคโนโลยีอากาศยานนั้นมาถูกทางแล้วและเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายการเป็นฮับด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค

 ยายห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วน

สอดคล้องกับทรรศนะของนายคริส แฮมป์เด็น หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อภาคพื้นเอเชีย บริษัท โรลส์รอยซ์ ที่ยอมรับว่า การแข่งขันในภูมิภาคมีสูงมาก นอกจากไทยแล้ว หลายๆประเทศในเอเชีย อาทิ อินเดีย มาเลเซียฯลฯ ต่างก็มีพลวัตรขับเคลื่อนในด้านอุตสาหกรรมอากาศยานอย่างน่าจับตา

“ผมมองว่าในแง่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ไทยมีสมรรถนะและโดดเด่นในการผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ภายในห้องโดยสารของเครื่องบินมากกว่า ทางโรลส์-รอยซ์เองมีฐานผลิตเครื่องยนต์อยู่ที่สิงคโปร์ แต่ก็จัดซื้อชิ้นส่วนบางอย่างจากประเทศไทยเช่นกัน ถ้าจะพูดถึงบทบาทของไทยในห่วงโซ่การผลิต ปัจจุบันถือว่าไทยยังมีบริษัทที่สามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆป้อนให้กับอุตสาหกรรมการบินไม่มากนัก คือมีประมาณ 20กว่าบริษัท ขณะที่ในอินเดียมีบริษัทผู้ผลิตถึง 700 บริษัท เป็นต้น”

ผู้บริหารของโรลซ์-รอยซ์ กล่าวในงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “หนทางสู่การเป็นฐานอุตสาหกรรมอากาศยานของภูมิภาค” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาและนิทรรศการ Opportunity Thailand จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “ไทยยังมีโอกาสพัฒนาอีกมากโดยสามารถขยับไปสู่ห่วงโซ่การผลิตในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำได้โดยการเทกโอเวอร์หรือการซื้อกิจการก็ได้ ยกตัวอย่างเมื่อเร็วๆนี้ในต่างประเทศ มีดีลซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบในรถยนต์มาผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์อากาศยาน ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางที่เป็นไปได้”

เขายังระบุด้วยว่า อุปสรรคสำคัญอีกประการของไทยคือการขาดแคลนบุคลากรระดับวิศวกรการผลิต นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากขึ้นด้วย ขณะที่นายไซมอน เชล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ประเทศไทย) จำกัดผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนเครื่องยนต์ให้ทรรศนะว่า การที่ไทยจะเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกนั้น คุณภาพในระดับมาตรฐานสากลเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นใบเบิกทางสู่ตลาดอากาศยานระดับโลก ซึ่งแม้จะมีการลงทุนสูงแต่ก็คุ้มค่า เพราะหากได้ลูกค้าแล้วก็มักจะเป็นสัญญาระยะยาว บริษัทเองมีการเพิ่มการลงทุนมาโดยตลอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ว่าจะเป็นในด้านเครื่องจักรหรือการขยายโรงงาน มาตรฐานรับรองนั้นมีทั้ง AS 9100 , ISO 9001, NADCAP รวมทั้งใบรับรองจากคู่ค้าอย่างโรลส์-รอยซ์ ทำให้สินค้าที่ผลิตจากไทยเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย “ผมมองว่าไทยเป็นดาวรุ่งในด้านนี้ และไม่เป็นที่ 2 รองใคร แต่เราต้องกล้าทำ กล้าเสี่ยง และร่วมมือกับบีโอไอ”

 ผู้ผลิตไทยไม่เป็นรองใคร

ด้านนายเคทัน โพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีซีเอส กรุ๊ปส์ฯซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่เป็นบริษัทของไทย ก่อตั้งโดยคนไทยและเป็นบริษัทไทย 100% เปิดเผยว่า บริษัทได้รับมาตรฐานรับรองระดับสากลอย่าง AS 9100 มาตั้งแต่ปี 2548 และเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกในแวดวงชิ้นส่วนอากาศยานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจนสามารถผลิตชิ้นส่วนป้อนลูกค้าระดับโลกอย่างโรลส์-รอยซ์ โบอิ้ง รวมทั้งแอร์บัส เขาเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า เมื่อไทยขยับมาตรฐานสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งธุรกิจการบินในภูมิภาค ผู้ประกอบการของไทยก็จะเติบโตตามและสามารถผงาดในตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560