ปั้น Smart Farmer 3 ปีแสนราย

21 ก.พ. 2560 | 09:00 น.
ธ.ก.ส.เดินหน้าผลักดันเกษตรกรเป็น Smart Farmer ให้ได้ 1 แสนรายภายใน 3 ปี ชี้นำร่องจาก SAME 300 ราย พัฒนาศักยภาพจนบรรลุเป้าหมาย เผยเตรียมเงิน 3 แสนล้านบาทไว้สนับสนุน

นายเรืองชัย เจริญกิจสุพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรมเอสเอ็มอีเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าธนาคารตั้งเป้าที่จะผลักดันเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคารไปสู่เกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ให้ได้ 1 แสนรายภายใน 3 ปี โดยดำเนินการผ่านลูกค้าของธนาคารที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี (SMAE) ประมาณ 300 ราย ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออก ในการเข้ามาช่วยบ่มเพาะ หรือนำร่องเกษตรกรให้พัฒนาเป็น SAME อีกประมาณ 700 รายภายในปี 2560 และจะดึงเกษตรให้เข้ามาพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องจนถึงเป้าหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินการของธนาคารนอกจากจะช่วยบ่มเพาะความรู้ความสามารถแล้ว ยังช่วยสนับสนุนในเรื่องของสินเชื่อประมาณ 3 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี จากวงเงินสินเชื่อรวมของธนาคารประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ 0.01-4% ต่อปีให้กับเกษตรกรที่เป็น SAME ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ โดยหากเป็นเกษตรกรที่ต้องการสินเชื่อไปเพื่อสร้างโรงงานเกษตรแปรรูปจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 0.01% หรือหากขอสินเชื่อไปเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนก็อาจจะคิดดอกเบี้ยที่ 4% เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างจากเกษตรพื้นฐานทั่วไปที่จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ 7% ต่อปี

สำหรับวงเงินสินเชื่อ 3 แสนล้านบาทที่ตั้งไว้สำหรับเกษตรกร SMAE ในปี 2559ที่ผ่านมาได้ถูกจัดวงเงินไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันปล่อยไปได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของภัยธรรมชาติทั้งฝนแล้ง และน้ำท่วม อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ครบเต็มวงเงิน ส่วนปี 2560 ตั้งวงเงินไว้ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท และปี 2561 ตั้งวงเงินไว้ที่ 1.5 แสนล้านบาท โดยปล่อยกู้ให้ไม่เกินรายละ 5 ล้านบาทต่อราย

นายเรืองชัย กล่าวอีกว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร (NPL) ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดเอาไว้ที่ระดับ 5% โดยมีเกษตรที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 6.7 ล้านรายซึ่งการพัฒนาเกษตรกรพื้นฐานทั่วไปให้เป็นเกษตรกร SAME สามารถช่วยลดอัตราการเกิด NPL ให้กับธนาคารได้ ซึ่งเกษตรกร SAME ก็จะกลายเป็น Smart Farmer ต่อไปในอนาคต

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ว่า กำลังทำแผนที่เกี่ยวกับมะพร้าวอยู่ คือต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำคือการปลูกมะพร้าว กลางน้ำคือเอาอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับมะพร้าว เช่น เนื้อมะพร้าว ไปแปรรูป และปลายน้ำคือการตลาด ก็ต้องช่วยดูเรื่องการจำหน่าย การหีบห่อ เป็นอีกโครงการหนึ่ง เอสเอ็มอีเกษตรจะเป็นการบ่มเพาะ Smart Farmerให้ขึ้นมาเป็นเอสเอ็มอี อันนี้เป็นโครงการที่จะทำพวกมะพร้าวให้ดีตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560