ลงทุนอะไรใน 'ดานัง' เมืองท่าสำคัญของเวียดนาม

20 ก.พ. 2560 | 13:00 น.
colum20-3237-a “เวียดนาม” เป็น 1 ในจุดหมายลำดับต้น ๆ ของอาเซียนที่คนไทยและต่างชาติเลือกท่องเที่ยว ซึ่งนอกจาก กรุงฮานอย และ นครโฮจิมินห์ แล้ว เมืองที่ทั่วโลกรู้จักเวียดนามมากยิ่งขึ้น คือ “นครดานัง” ด้วยคอนเซ็ปต์ Sea Sand Sun เมืองตากอากาศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรรอบด้าน โดยเฉพาะหลังปี 2540 เมื่อดานังแยกตัวจากจังหวัดกว๋างนาม และพัฒนาเป็นเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ยิ่งทำให้บรรยากาศการลงทุนทั้งในด้านอุตสาหกรรมและภาคบริการเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด สามารถดึงนักลงทุนยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ทั้งจาก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และชาติจากยุโรป เข้ามาร่วมธุรกิจกันอย่างคึกคัก

จุดเด่นของ “นครดานัง” (Da Nang) เมืองท่าสำคัญของเวียดนามกลางตอนใต้ ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุตสาหกรรมและบริการ เป็นเมืองที่มีบทบาททางเศรษฐกิจของเวียดนาม โดย 20 ปีที่ผ่านมา GDP ของนครดานังเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 77,781 ล้านบาท) ระหว่างปี 2540-2558 คิดเป็นการเติบโต 10.47% ต่อปี ขณะที่ปี 2559 มีรายได้ประมาณ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 84,852 ล้านบาท) สืบเนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมและภาคบริการที่สูงถึง 97% นอกจากนี้ ห้างร้านขนาดใหญ่ โรงแรมที่พักประเภทต่าง ๆ สถานบันเทิง ร้านอาหารทุกระดับ ยังมีแนวโน้มโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกย่านของนครดานัง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

ชื่อเสียงของนครดานังที่มีชายฝั่งสวยงามประกอบกับทำเลที่ตั้ง ทำให้ที่นี่ถูกวางให้เป็นเมืองท่าสำคัญในการขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลจีนใต้ตามนโยบาย เส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ผลักดันเป็นประตูการค้า (Transshipment Hub) ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเวียดนามตอนกลางภายในปี 2563 ซึ่งขณะนี้ นครดานังกำลังเดินหน้าสร้างท่าเรือ Lien Chieu เพื่อเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า และปรับท่าเรือสินค้า Tien Sa ให้เป็นท่าเรือรองรับเรือสำราญจากต่างประเทศ เพื่อเสริมมิติตลาดท่องเที่ยวให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

ล่าสุดหลายฝ่ายคาดหวังกับความสำเร็จในฐานะเจ้าภาพ “การประชุม APEC 2017” ของเวียดนาม ที่จะมีขึ้นช่วงพฤศจิกายน 2560 โดย “นครดานัง” ถูกเลือกเป็นสถานที่จัดประชุมเพื่อต้อนรับผู้แทนชาติสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ แสดงความพร้อมระดับสากลและส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยว ที่สำคัญ “นครดานัง” ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม ให้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยการเพิ่มอำนาจบริหารงานของคณะกรรมการประชาชน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินท้องถิ่น รวมถึงสามารถรับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศแบบให้เปล่าได้โดยตรง รวมถึงอุตสาหกรรมไฮเทคและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะช่วยให้โครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจเดินหน้าเร็วขึ้น

ที่ผ่านมานักลงทุนเอกชนไทยลงทุนในนครดานังมีจำนวนพอสมควร แต่ไม่สูงนัก และกระจุกอยู่ในบางอุตสาหกรรม เช่น การแปรรูปอาหาร การเพาะเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีเพราะต้นทุนค่าขนส่งและแรงงานต่ำกว่าเมืองอื่น อยู่ในอัตราที่นักลงทุนไทยสู้ไหวหรือคาดการณ์ได้ ขณะที่การลงทุนธุรกิจไทยใน “ภาคบริการ” ยังถือว่ามีน้อย จึงเป็นช่องทางโอกาสของเอกชนไทยที่มีประสบการณ์และศักยภาพด้านธุรกิจภาคบริการ ซึ่งนครดานังกำลังต้องการเพื่อให้สามารถรองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากตัวเลขที่ขยับสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ “อุตสาหกรรม MICE” ก็เป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศของรัฐบาลเวียดนามด้วย
ดังนั้น ปี 2560 จึงถือเป็นปีที่ “นครดานัง” จะได้รับความสนใจสูง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และจะเกิดขึ้นในลักษณะพร้อม ๆ กันทุกด้าน จากแรงหนุนของรัฐบาลและนักลงทุนเอกชนที่มองเห็นโอกาสของเมืองไข่มุกแห่งเวียดนามกลางแห่งนี้ และคาดว่าการเติบโตที่สูงขึ้นจะทัดเทียม ใกล้เคียงกับเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ หลายแห่งของเอเชียได้ในไม่ช้า

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

 ชี้ช่องการค้า

สำหรับภาคเอกชนไทยที่สนใจไปลงทุนในต่างประเทศด้านการเกษตรและสินค้าเกษตร ถือเป็นโอกาสอันดีที่ในช่วงระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคม 2560 กาตาร์จะจัดงาน The5th Qatar International Agricultural Exhibition 2017 (AGRITEQ 2017) ที่ Doha Exhibition and Convention Centerเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกของไทยโชว์สินค้าเกษตรและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อตอบสนองกับความสนใจของกาตาร์ ในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ในงานนี้ยังเป็นโอกาสเข้ามาศึกษาความต้องการของกาตาร์ รวมทั้งพบปะเครือข่ายผู้ประกอบการ (B2B) ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งประชากรในกาตาร์มีกำลังซื้อสูงมากและมีความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรทั่วไปและสินค้าออแกนิก ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่www.agriteq.com

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560