พม.ตั้งเป้าปี 60 เดินหน้าจัดระเบียบ100 ชุมชน ใช้งบ 200 ล้านบูรณาการทั่วประเทศ

19 ก.พ. 2560 | 14:10 น.
กระทรวงพัฒนาสังคมฯเดินหน้าจัดระเบียบ 100 ชุมชนจาก 680 ชุมชนทั่วประเทศ หลังนำร่องชุมชนบ่อนไก่ย่านคลองเตยเพื่อรับฟังความเห็นการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชน หวังพัฒนาโมเดลใหม่ เน้นบูรณาการทำงานร่วมพร้อมเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์ เผย 3 เดือนต้องเห็นผลชัดเจนก่อนขยายสู่ชุมชนคลองเตยต่อไป

37003 พล.ต.อ.อดุลย์  แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดร.ธัชพล  กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.)และคณะผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเคหะชุมชนบ่อนไก่ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยก่อนดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ศาลาประชาคม โครงการเคหะชุมชนบ่อนไก่

โดยจะเน้นเรื่องการบริหารชุมชนที่ดี เพราะเป็นที่ดินทำเลทองตั้งอยู่ใจกลางเมืองและไม่ไกลจากย่านสุขุมวิทเท่าใดนัก เป็นการวางยุทธศาสตร์ 20 ปีซึ่งประชาชนต้องมีที่อยู่อาศัยถ้วนท่ัว ปัจจุบันมีจำนวน 25 ล้านครัวเรือนแต่ระยะ 10 ปีนี้ต้องทำให้สำเร็จ 2.7 ล้านครัวเรือนในการพัฒนาชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ดังนั้นจำนวนทั้ง 680 ชุมชนทั่วประเทศจึงทำให้ดีเต็มที่ทำได้แน่ไม่ปล่อยให้ผู้เช่าอยู่ตามยถากรรม ต้องการปรับชุมชนบ่อนไก่แข่งย่านสุขุมวิท โดยเน้นความปลอดภัย สะอาด มีระเบียบ สังคมดีจัดระบบชุมชนให้มีความเข้มแข็งบูรณาการโดยการเคหะแห่งชาติเป็นผู้นำ มีคณะกรรมการชุมชนเข้ามาร่วม บูรณาการหน่วยให้ครบ โดยมีแผนว่าปีนี้เอา 100 จุดนำร่อง จากนั้นเร่งทำแผนปฏิบัติการ ให้แล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์ ประการสำคัญงบประมาณตรวจสอบได้และต้องออกแบบพื้นที่ให้ดี ต้องการสร้างสังคมที่มีส่วนร่วมของชุมชนให้เห็นผลในระยะ 3-6 เดือน สำหรับปัญหายาเสพติดจะเอาปปส.มาช่วยเยาวชนดังนั้นจึงต้องสร้างคณะกรรมการชุมชนให้มีความเข้มแข็งก่อนประการสำคัญงบประมาณที่ได้กำไรต้องกลับคืนมาพัฒนาชุมชนวางระบบด้วยการเตรียมใช้มาตรการทางกฏหมายเข้ามาดำเนินการด้วย

"ขอดูการจัดทำแผนใน 2 สัปดาห์ นอกจากนั้นยังจะให้ทำรั้วโปร่ง ควบคุมทางเข้าออก เพิ่มแสงสว่าง ทำลานเล่นกีฬาการออกแบบห้องต้องมีพื้นที่ใช้สอยให้คุ้มค่าให้นักวิชาการออกแบบห้องอารยสถาปัตย์ในทุกพื้นที่เพื่อคนทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย"

ด้าน ดร.ธัชพล  กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า ชุมชนบ่อนไก่เดิมเป็นแหล่งเสื่อมโทรมขนาดใหญ่ ซึ่งสำนักงานปรับปรุงแหล่งชุมชน เทศบาลนครกรุงเทพ (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) ต้องการปรับปรุงบริเวณดังกล่าว ด้วยการอพยพรื้อย้ายชาวชุมชนแล้วสร้างอาคารแฟลตขึ้นทดแทน ต่อมารัฐบาลได้โอนชุมชนบ่อนไก่มาให้อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติในปี 2516 โดยเช่าที่ดินกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พื้นที่รวม 106 ไร่ 58.44 ตารางวา ปัจจุบันคงเหลือ 68 ไร่ 56.20 ตารางวา (เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินขอพื้นที่คืนบริเวณซอยปลูกจิตต์ จำนวน 38 ไร่ 2.24 ตารางวา) ในพื้นที่ประกอบด้วย 4 โครงการ 15 อาคาร จำนวน 2,578 หน่วยได้แก่โครงการบ่อนไก่ รับโอน จัดสร้างเป็นอาคารสูง 5 ชั้น 4 อาคาร รวม 336 หน่วย (รับโอนมาจากเทศบาลนครกรุงเทพ เมื่อปี 2516  (กรุงเทพมหานครปัจจุบัน) โครงการบ่อนไก่ ระยะ 1 จัดสร้างเป็นอาคารสูง 5 ชั้น 2 อาคาร รวม 120 หน่วย (ก่อสร้างปี 2518), อาคารสูง 12 ชั้น  2อาคาร รวม 432 หน่วย และอาคารสูง 12 ชั้น  2 อาคาร รวม 264 หน่วย (เช่าซื้อเฉพาะตัวอาคาร) โครงการบ่อนไก่ ระยะ 2 ส่วน 1 เป็นอาคารสูง 5 ชั้น 1 อาคาร รวม 72 หน่วย (ก่อสร้างปี 2522) และอาคารสูง 12 ชั้น 2 อาคาร รวม 308 หน่วย รวมถึง โครงการบ่อนไก่ ระยะ 3 ส่วนที่ 1 (บ้านพระราม 4) จัดสร้างเป็นอาคารสูง 14 ชั้น 2 อาคาร รวม 1,046 หน่วย และอาคารจอดรถสูง 5 ชั้น 1 อาคาร จำนวน 613 คัน (ก่อสร้างเมื่อปี 2540)

ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติมีแผนดำเนินโครงการพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย 680 ชุมชนในโครงการที่อยู่อาศัยในความดูแลทั่วประเทศ มีเป้าหมายดำเนินการในปี 2560 จำนวน 100 ชุมชน ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ด้วยการปรับเพื่อปรับปรุงซ่อมแซม สภาพห้องพักอาศัยให้พร้อมอยู่ โดยมีโครงการเคหะชุมชนบ่อนไก่เป็นโครงการนำร่อง ในระยะแรกจะเข้าดำเนินการในโครงการบ่อนไก่ระยะที่ 3 ส่วน 1 หรือบ้านพระราม 4 เป็นอาคารสูง 14 ชั้น จำนวน 2 อาคาร รวม 1,046 หน่วย ขนาดพื้นที่ห้องพักอาศัย 32.8 ตารางเมตร และอาคารจอดรถสูง 5 ชั้น 1 อาคาร ซึ่งก่อนหน้านี้การเคหะแห่งชาติบริหารโครงการด้วยการให้เช่าเซ้งและเช่า ต่อมาในปี 2544 ได้ให้บริษัท กินเนส เทิร์นอราวด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เช่าเหมาอาคารสัญญา 15 ปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2544 ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 ในระหว่างนี้การเคหะแห่งชาติได้บอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา หลังจากนั้นบริษัทได้ส่งคืนพื้นที่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้ทำสัญญาผู้เช่าในโครงการบ้านพระราม 4 แล้ว จำนวน 575 หน่วย ส่วนที่เหลือเป็นอาคารว่าง 471 หน่วย ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะเข้าดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชน โดยมีรายละเอียดที่จะดำเนินการปรับปรุง ประกอบด้วย ภายในห้องพัก เช่น งานปรับปรุงพื้นที่ภายในห้อง งานปรับปรุงฝ้าเพดาน งานปรับปรุงโคมไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมด งานทาสีผนังและฝ้าเพดาน และงานติดตั้งสุขภัณฑ์ ภายในห้องน้ำใหม่ทั้งหมด ในส่วนของการปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางภายในและภายนอกอาคาร ได้แก่ งานทาสีภายในโถงด้านหน้าห้องและภายนอกอาคาร งานปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่วนกลาง งานปรับปรุงระบบความปลอดภัย งานปรับปรุงภูมิทัศน์และอื่นๆ เป็นต้น รวมทั้งการปรับปรุงพื้นที่และลานจอดรถ  ได้แก่ งานทาสีอาคารจอดรถ  งานกำหนดพื้นที่จอดรถสำหรับสตรีและผู้พิการ งานปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เป็นต้น สำหรับอัตราค่าเช่าของผู้อยู่อาศัยเดิมอยู่ระหว่าง 4,500 - 7,000 บาทต่อเดือน (รวมค่าส่วนกลางแล้ว) ส่วนอัตราค่าเช่าสำหรับผู้อยู่อาศัยใหม่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

"นโยบายเร่งด่วนที่รัฐมนตรีต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาจึงจะมอบหมายให้ระดับรองผู้ว่าการกคช.ไปเป็นประธานคณะทำงานเพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะนี้ได้รับการประสานจากกลุ่มทรู กลุ่มผลิตภัณฑ์สี ตลอดจนบริษัทห้างร้านต่างๆเข้ามาบ้างแล้ว หลังจากพัฒนาชุมชนบ่อนไก่สำเร็จก็จะทยอยไปสู่ชุมชนท่าเรือคลองเตยและชุมชนอื่นทั้งในกทม.และต่างจังหวัดควบคู่กันไป"