กุ้งไทยเสี่ยงถูกแบน สหรัฐฯเบรกนำเข้า

19 ก.พ. 2560 | 11:00 น.
สัญญาณอันตรายสินค้ากุ้งไทย สหรัฐฯ ปฏิเสธนำเข้ามกราคมเดือนเดียว5 ชิพเมนต์มากสุดในรอบ14 ปี อ้างสารปฏิชีวนะปนเปื้อน สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยเต้น เร่งตรวจสอบ หวั่นโดนแบนทั้งระบบ

สินค้ากุ้งเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกในแต่ละปีมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านบาทโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1สัดส่วนมากกว่า 40% แต่ล่าสุดมีสัญญาณอันตรายตั้งแต่ต้นปี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณนครชิคาโก ได้เผยถึงรายงานของสำนักงานอาหารและยา หรือ อย. ของสหรัฐฯ ระบุว่าในเดือนมกราคม 2560 อย.สหรัฐฯได้ดำเนินการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศจำนวน 145 ชิพเมนต์ ในจำนวนนี้ 8 ชิพเมนต์เป็นการห้ามนำเข้าสินค้ากุ้งแช่แข็ง โดยมีแหล่งนำเข้าจากไทย 5 ชิพเมนต์ ซึ่งมาจากผู้ส่งออกเพียงรายเดียวที่เ ห ลือ เ ป็น สิน ค้า จ า กเวียดนาม 2 ชิพเมนต์ และจีน 1 ชิพเมนต์ ด้วยเหตุสินค้ามีสารปฏิชีวนะปนเปื้อน

ทั้งนี้สินค้ากุ้งไทยมีประวัติถูกห้ามนำเข้าในเรื่องสารปฏิชีวนะตกค้างในระดับตํ่ามาก หากดูจากสถิติการนำเข้ากุ้งจากไทยนับตั้งแต่ปี 2545 สหรัฐฯห้ามนำเข้าด้วยสาเหตุดังกล่าวเพียง 17 ครั้ง ซึ่งมากที่สุดในปี 2546 จำนวน 15 ครั้งและหลังจากนั้นมีเพียง 2ครั้งในปี 2548 และ 2559 เท่านั้น ส่วนในช่วงปี 2549-2558 ไม่มีสถิติว่าสหรัฐฯห้ามนำเข้ากุ้งไทย

[caption id="attachment_131267" align="aligncenter" width="499"] พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย[/caption]

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าทางสมาคมทราบเรื่องแล้วและอยู่ระหว่างการตรวจสอบในรายละเอียดว่าเป็นสินค้าของบริษัทใด ใช้กุ้งจากฟาร์มใด หรือล็อตใดในการผลิต หากทราบในรายละเอียดข้อมูลที่แท้จริงแล้วจะแถลงข่าวให้ทุกฝ่ายรับทราบ คาดจะเป็นในสัปดาห์หน้า เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยทั้งระบบได้

ขณะที่นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหากเป็นข้อเท็จจริง เป็นหน้าที่ของกรมประมงต้องไปตรวจสอบว่าสินค้าของบริษัทดังกล่าวได้วัตถุดิบมาจากฟาร์มใด บริษัทใดเป็นผู้ผลิต และกรมประมงได้ตรวจและให้การรับรองสินค้าหรือไม่ ทั้งนี้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นไปได้ที่บริษัทส่งออกมีการปลอมแปลงเอกสารใบรับรองของกรมประมงไปให้ลูกค้า โดยไม่ผ่านการตรวจรับรองสินค้า หากพบเรื่องนี้เป็นการกระทำของสมาชิก ทางสมาคมจะไล่ออกจากเป็นสมาชิกทันที ที่ผ่านมาเคยไล่ออกไปแล้ว 3 ราย จากมีการกระทำในลักษณะดังกล่าว

"สมาคมจะเร่งตรวจสอบว่าเป็นสินค้าของรายใด กุ้งจากบ่อไหน ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากกรมประมงหรือไม่ และปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไรเพื่อเร่งแก้ไขไม่ให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก"

แหล่งข่าวจากกรมประมงเผยว่า ทางกรมได้ทราบข้อมูลเรื่องสินค้ากุ้งไทยถูกสหรัฐฯปฏิเสธนำเข้าแล้ว ที่ผ่านมาในการกำกับดูแลสินค้าประมงส่งออกรวมถึงสินค้ากุ้งทางกรมจะมีการสุ่มตรวจโรงงาน ทั้งเรื่องวัตถุดิบ และสารตกค้าง ซึ่งโรงงานจะมีใบซื้อ-ขายวัตถุดิบมาแสดงว่าซื้อฟาร์มไหน และกรมจะมีการรับรองสินค้าก่อนส่งออก เรื่องที่เกิดขึ้นจะได้ทำการตรวจสอบต่อไป รวมถึงจะให้ทูตเกษตรไทยที่กรุงวอชิงตันดี.ซี.ช่วยประสานกับทางสหรัฐฯเพื่อแก้ไขปัญหา

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบเว็บไซต์ www.shrimpalliance.com ได้ระบุชื่อบริษัทที่ถูกทางอย.สหรัฐฯปฏิเสธการนำเข้าสินค้ากุ้งในครั้งคือ บริษัท ณรงค์ซีฟู้ด จำกัด จำนวน 5 ชิพเมนต์ ระบุสินค้ามีการปนเปื้อนสารไตรฟูแรนส์ และยาสัตว์ตกค้าง ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังผู้บริหารของบริษัทเพื่อสอบถามที่มาที่ไปของเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้

จากข้อมูลของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่ได้รวบรวมจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากรระบุในปี 2559 ไทยมีการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปไปสหรัฐฯมูลค่า 2.68 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.1% โดยตลาดสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 42.9% ของการส่งออกสินค้ากุ้งไทยในภาพรวม(ปี 2559 ไทยส่งออกสินค้ากุ้งมูลค่า 6.25 หมื่นล้านบาท)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560