สร้างเมล็ดพันธุ์ ความสำเร็จด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู

19 ก.พ. 2560 | 01:00 น.
“การปฏิบัติหน้าที่เป็นอธิการบดีในวันนี้ไม่ได้ทำงานเพียงเพื่อซื้อเวลาหรือรักษาตำแหน่งแต่สิ่งที่พึงปฏิบัติและย้ำกับตัวเองอยู่เสมอคือ “เราจะทำอย่างไรให้กับมหาวิทยาลัยเกิดการพัฒนาไปในมิติต่างๆ ของสังคมเศรษฐกิจและประเทศชาติ”

สื่อการสอนที่ดีที่สุด คือ จิตวิญญาณความเป็นครู ในอดีตรูปแบบการคิดของครูมุ่งเน้น และมุ่งสร้างในการจัดซื้อและหาเครื่องมือการสอนที่มีประสิทธิภาพ จนลืมมองและสอดส่องต้นนํ้าที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุดนั่นคือ “กระบวนการคิด” ที่ต้องบ่มเพาะการฝึกอบรมและเรียนรู้จากเวทีการพัฒนาตนในระดับสากล ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับภาคการศึกษาของประเทศไทย โดยไม่ได้โฟกัสเพียงกระดาษหนึ่งใบแต่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างครู นักศึกษา ภาคอุตสาหกรรมบูรณาการร่วมกันในการเรียนรู้ที่ต้องเข้าใจจริง แก้ปัญหาเป็นปฏิบัติได้ และนี่คือสารบัญบทแรกทางความคิดที่มาพร้อมกับปณิธานอันมุ่งมั่นในการปฏิรูปมหาวิทยาลัยในทุกกระบวนการให้เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วน เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยในอนาคตให้เกิดความยั่งยืน รศ.ดร.ประเสริฐปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี)

MP-293237-c  รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

แม่ทัพใหญ่แห่ง มทร.ธัญบุรี ฉายภาพรวมของการพัฒนาและปฏิรูปภาคการศึกษาในมหาวิทยาลัยได้อย่างน่าสนใจว่า พื้นฐานของมหาวิทยาลัยเป็นอาชีวศึกษา ได้เดินทางผ่านการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงมาหลายระยะ นับตั้งแต่ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยในทุกช่วงระยะเวลาเราได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์จากรุ่นสู่รุ่นจวบจนถึงปัจจุบันภายใต้แนวคิด “มุ่งผลิตบัณฑิต นักปฏิบัติ”

การเข้ามาอยู่ในระดับอุดมศึกษามีตัวชี้วัดการประเมินที่เป็นมาตรฐาน เป็นพลังสนับสนุนที่สำคัญในการทำให้มทร.ธัญบุรี มุ่งหน้าปฏิรูปภาคการศึกษาภายในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มจากคณาจารย์ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ระดับแรกมทร.ธัญบุรี นำระบบ “สเต็มศึกษา” หรือ (STEM Education) มาปรับใช้ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่บูรณาการการศึกษาทางด้านวิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ตั้งแต่ระดับขั้นการศึกษาพื้นฐานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้นักศึกษามีองค์ความรู้และทักษะการเรียนรู้ทางสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ ในระดับที่สองคือการเชื่อมโยงสู่การนำเอาระบบ CDIO จากประเทศสิงค์โปรมาประยุกต์ใช้ ผลจากความร่วมมือครั้งสำคัญกับ Singapore Polytechnic ปีนี้เป็นปีที่ 3 ซึ่งได้ขยายผลผ่านการฝึกอบรมคุณครูและอาจารย์ในทุกแขนงสาขากว่า 200 คน ใน 8 ราชมงคล

สำหรับความโดดเด่นของ CDIO นั้น อธิการบดี ขยายความอย่างละเอียดว่า C คือ Conceive การหาปัญหา D คือ Design การออกแบบและทำคิดค้นวิธีการสอนรูปแบบใหม่ I คือ Implement การหาแนวทางที่ดี และ O คือ Organization การจัดการและทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งระบบดังกล่าวได้สรรสร้างโอกาสและตกผลึกแนวคิดให้กับอาจารย์สู่การปรับเปลี่ยนเทคนิคนำเสนอองค์ความรู้รูปแบบใหม่ จากนั้นในระดับที่สามเราต่อยอดการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาการเรียนการสอนควบคู่ไปกับ Finland University ด้วยการส่งคณาจารย์ไปฝึกอบรมและนำเอาความรู้ที่ได้มาต่อยอดทางวิชาการ วัฒนธรรม และกระบวนการคิดกับอาจารย์รุ่นต่อๆไปในรูปแบบของโครงการ “ครูต้นแบบ” สะพานเชื่อมที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาแบบองค์รวมของมหาวิทยาลัย

และระดับที่สี่อยู่ระหว่างการดำเนินการกับโครงการไทย-เยอรมัน Meister ภายใต้ความร่วมมือกับ Aachen University of Technology เพื่ออบรมคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มากกว่า 16 ท่าน ในการฝึกอบรมและเก็บเกี่ยวความรู้กับมาสู่มหาวิทยาลัยในรูปแบบครูต้นแบบต่อไป การปฏิรูปทั้งสี่แนวทางที่ มทร.ธัญบุรี มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของกระบวนการคิดสำหรับคุณครู การบูรณาการร่วมกันด้านการศึกษา และที่สำคัญคือการผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดีนอกจากการปฏิรูปวิธีการสอน ในมิติของหลักสูตรเรามุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบใหม่อยู่เสมอในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้การผลิตนักศึกษาสอดรับกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งภาพที่เห็นได้ชัดคือการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการSMEs Turn Around กับทาง สสว. ในการลงมือปฏิบัติจริงนับตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาและที่มาของความผิดพลาดในการดำเนินธุรกิจพร้อมกับแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุณครูได้เทคนิคการสอนใหม่ๆ นักศึกษาได้ลงพื้นที่เรียนรู้จริงๆ และภาคธุรกิจ SMEs เกิดการฟื้นตัวและกลับมาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

“เพราะเราเชื่อเสมอว่าโอกาสอยู่บนอากาศที่เราสามารถไขว่คว้าได้ตลอดเวลา”

MP-293237-b รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ เผยต่ออีกว่า การร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นเส้นทางที่สำคัญในการนำพาบัณฑิตของเราไปเติมเต็มทุกภาคธุรกิจ โดยขั้นตอนการบ่มเพาะนอกจากการปฏิบัติจริง เราเปิดโอกาสหรือสร้างเวทีให้ครูและนักศึกษาได้ผลิตและคิดค้นผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่เสมอ เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในอนาคตให้เติบโตต่อไปในระบบห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์

ผมรักและศรัทธาในการให้ ซึ่งการมาบริหารงานในบทบาทหน้าที่นี้ เราต้องหล่อเลี่ยงความคิดด้วยทัศนคติที่ดีด้วยการตอบแทนสังคมในทุกด้าน ไม่ปิดกั้นในการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือ ซึ่งหมุดเป้าหมายของเราต่อจากนี้ เรามุ่งสร้างให้ มทร.ธัญบุรีให้เป็นแบตเตอรี่ที่สำคัญในการผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เรามุ่งปฏิบัติ ให้ มทร.ธัญบุรี เป็นแบตเตอรี่ต่อการพัฒนาบัณฑิตนักปฏิบัติ พัฒนาแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพ และเทคโนโลยีชั้นสูงนั้นให้กับภาคอุตสาหกรรม เรามุ่งขยายผลให้ มทร.ธัญบุรี เป็นแบตเตอรี่ที่จะแสดงศักยภาพทั้งงานวิจัยและกำลังคนตอบสนองนโยบายของภาครัฐซึ่งวาดไว้ในอนาคต 15 ปี โดยทั้งสามส่วนพบว่า เรามุ่งมั่นและตั้งใจในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างเต็มความรู้ความสามารถ ทั้งในมิติแรงงาน นวัตกรรม และสุดท้ายนี้ มทร.ธัญบุรี ขอเป็นส่วนหนึ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศอีกหนึ่งช่องทางด้วยความภาคภูมิใจและความเชื่อมั่นของ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560