ทรัมป์ป่วน!ค้าปลีกชะงัก

19 ก.พ. 2560 | 14:00 น.
ถ้าสินค้าขายไม่ออก ก็เลิกขาย แล้วเอาสินค้าอื่นเข้ามาเสียบแทนซะ...โดยทั่วไป เรื่องก็มักจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าสินค้ายอดขายฝืดเป็นของลูกประธานาธิบดี จะขายต่อหรือยกเลิกการขายก็ต้องดูทิศทางลมให้ดีสักหน่อย ไม่เช่นนั้นอาจต้องเจอภาวะขื่นขมอย่างห้างนอร์ดสตอร์ม ที่หลังจากประกาศยกเลิกการขายสินค้าในไลน์เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่เป็นแบรนด์ของ “อิวังก้า” ลูกสาวคนสวยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทางห้างก็ต้องเผชิญปฏิกิริยาตอบกลับทั้งเชิงลบและเชิงบวก ที่ส่อแววว่าคงไม่จบลงง่ายๆ

เพราะพลันที่ประกาศออกไป คลื่นลูกใหญ่ก็มาจากประธานาธิบดีเองที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อกลางตามเคย ตอกกลับห้างนอร์ดสตรอมว่า ไม่ยุติธรรมที่มาทำกับลูกสาวของเขาแบบนั้น ตามมาด้วยเคลลีแอน คอนเวย์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีที่ออกมาช่วยสำทับผ่านสื่ออย่างฟ็อกซ์นิวส์ว่า การตัดสินใจของนอร์ดสตรอมนั้นแค่เอ่ยปากก็เห็นลิ้นไก่ ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร คอนเวย์แสดงท่าทีว่าเรื่องนี้เหมือนการกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่นอร์ดสตรอมก็ออกมายันว่า เหตุผลที่ต้องเลิกขายสินค้าแฟชั่นแบรนด์อิวังก้ามีเหตุผลเดียวและเป็นเหตุผลทางธุรกิจ คือ ยอดขายไม่เข้าเป้า

TP20-3237-2 สถิติชี้ว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา สินค้าของอิวังก้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตทำยอดขายลดลงถึง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 นอกจากนี้ ในส่วนของการขายผ่านเว็บไซต์ของห้างนอร์ดสตรอม สินค้าของอิวังก้ายังทำยอดขายในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาลดลงถึง 63% ผู้ค้าปลีกที่ยกเลิกการจำหน่ายสินค้าแฟชั่นแบรนด์อิวังก้าไม่ได้มีแต่นอร์ดสตรอมเท่านั้น รายอื่นๆที่ตัดสินใจทำอย่างเดียวกันยังมีอีกหลายราย อาทิ นีแมน มาร์คัส, เบลค์, เอชเอสเอ็น, ช็อปสไตล์ ที.เจ.แม็กซ์ เซียร์ และเบอร์ลิงตั้น ทุกรายให้เหตุผลเดียวกันว่า สินค้าขายไม่ดี

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าความเคลื่อนไหวของนอร์ดสตรอมและผู้ค้าปลีกอีกรายอื่นๆที่ยกเลิกการจำหน่ายสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคนในตระกูลทรัมป์หรือวงศ์วานว่านเครือ อาจจะมีแรงจูงใจทางการเมืองและเป็นผลต่อเนื่องจากโครงการ#GrabYourWallet ที่รณรงค์ต่อต้านสินค้าของคนตระกูลทรัมป์เพื่อขจัดเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจออกไปจากแวดวงการเมือง แต่เอาเข้าจริง เมื่อเกิดกระแสต่อต้านสินค้าตระกูลทรัมป์ขึ้นมา ก็ปรากฏว่ามีคนรวมกลุ่มกันคัดค้านความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการตอบโต้ ประกอบด้วยคนที่รักทรัมป์หรือให้การสนับสนุนทรัมป์ กับคนที่เบื่อหน่ายและไม่อยากเห็นประเด็นทางการเมืองเข้ามาวุ่นวายกับการใช้ชีวิตประจำวัน กลุ่มหลังนี้คว่ำบาตรห้างนอร์ดสตรอมและผู้ค้าปลีกอื่นๆที่พวกเขาเชื่อว่า เลิกขายสินค้าของตระกูลทรัมป์เพราะหวังผลทางการเมือง และในอีกแง่มุมหนึ่งพวกเขาไม่ต้องการให้ผู้ค้าปลีกหรือเจ้าของสินค้าและบริการ เอาเรื่องการเมืองเข้ามาปะปนกับการทำธุรกิจ “เราอยากซื้อสินค้าที่ห้างของคุณ ดื่มกาแฟในร้านของคุณ แต่ไม่ได้อยากรู้เลยซักนิดว่าคุณสนับสนุนใครเป็นประธานาธิบดีหรือมีแนวคิดทางการเมืองอย่างไร” แกนนำกลุ่มต่อต้านห้างนอร์ดสตรอมระบุ

 ดีลชะลอจากแผนขึ้นภาษี

นอกจากเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนรอบกายที่อาจเข้ามาทับซ้อนกับบทบาทและอำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว นโยบายและมาตรการต่างๆที่ทรัมป์ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งยังมีผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบเชิงลบที่ชัดเจนคือแนวโน้มที่ราคาสินค้าหลายประเภทที่ผู้ค้าปลีกอเมริกันนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโกหรือจีน ส่อเค้าจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 20-45% ซึ่งจะทำให้สินค้าขยับราคาสูงขึ้น และผู้บริโภคที่จำเป็นต้องจ่ายแพงกว่าที่เคยเป็นมา อาจจะต้องคิดหนักก่อนตัดสินใจซื้อ ทรัมป์คาดหมายว่าการลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและภาษีเงินได้นิติบุคคลจะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อสินค้าขยับราคาสูง อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มขยับขึ้นดอกเบี้ย การกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน ก็อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่รัฐบาลคาดหมาย

ไม่เพียงเท่านั้น นักวิเคราะห์ยังประเมินสถานการณ์ไว้ว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้าข้ามแดน (border tax) ยังอาจจะทำให้แผนซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการในธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐฯ ชะงักงันหรือชะลอตัวลงด้วย เนื่องจากสภาวะเงื้อง่าเตรียมตั้งกำแพงภาษี (แต่ยังไม่ได้ประกาศออกมาจริงๆ) ทำให้ผู้ประกอบการยากที่จะคาดเดาสถานการณ์หรือคาดคะเนผลที่จะตามมาในระยะยาว ความไม่แน่นอนทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมืองเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับธุรกิจที่กำลังวางแผนจะซื้อหรือควบรวมกิจการ และเมื่อความไม่แน่นอนเกิดขึ้น สิ่งที่ผู้ค้าส่วนใหญ่เลือกที่จะทำคือชะลอแผนการไปก่อน หรือยุติแผนชั่วคราวเพื่อรอดูสถานการณ์

ผู้ค้าปลีกของสหรัฐฯซึ่งมีหลากหลายประเภทตั้งแต่ห้างดิสเคาต์สโตร์ขนาดใหญ่ที่มีสินค้าหลากหลายอย่างวอลมาร์ต ไปจนถึงห้างเฉพาะทางอย่างโฮมดีโปต์ที่ขายสินค้าเกี่ยวกับการซ่อมแซมและตกแต่งบ้าน หรือซูเปอร์มาร์เก็ตหัวมุมถนนที่ขายอาหารสด-อาหารแห้ง ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าโดยตรงหรือซื้อผ่านเอเย่นต์ รายที่มีกำไรน้อยอยู่แล้วจากสินค้าประเภทเสื้อผ้า รองเท้า และอาหาร จะได้รับผลกระทบมาก แต่รายที่นำเข้าสินค้าที่สามารถทำกำไรได้ดี เช่น ยาและสินค้าไฮเทค ก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า

ท่ามกลางความไม่แน่นอนและเค้าลางปัญหา(จากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า) ที่กำลังก่อตัวขึ้น สิ่งที่ผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆพึงหลีกเลี่ยงคือ การนำพาตัวเองเข้าไปติดหล่มการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง เพราะผลลัพธ์ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดก็ตาม ก็จะต้องเผชิญปฏิกิริยาโต้กลับอย่างที่นอร์ดสตรอมกำลังพบเจอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560