ปัญหาชาติเหมือนรถติดหล่ม เสียสละ ถอยคนละก้าว

19 กุมภาพันธ์ 2560
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เสนอ 7 แนวทางของพรรคชาติพัฒนา เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง พร้อมวอนทุกพรรคการเมืองถอยคนละก้าวเพื่อสันติสมานฉันท์ในประเทศ

 ลืมอดีตแล้วถอยคนละก้าว

อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายสมัย ชี้ถึงความพยายามของ “รัฐบาลประยุทธ์” ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการปรองดองว่า เป็นเรื่องดีมากๆ ที่รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างความปรองดองและตั้งคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดองขึ้นมาทำงานในส่วนนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมามีผลการศึกษาจากคณะกรรมการชุดต่างๆ แต่ยังไม่มีคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง มาดำเนินการเรื่องปรองดอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะความขัดแย้งที่เกิดมาจากอดีต มันมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต่อความสุขของประชาชน โอกาสดีๆ ของประเทศสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก และก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในที่สุด เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้ความร่วมมือ

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีต บางส่วนเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทียังไม่เกิดความขัดแย้งโดยตรงแต่เป็นเรื่องเหลื่อมล้ำโดยตรง จึงมีคำถามตามมาว่า ทำไมคุณจนเหลือเกิน ทำไมคุณรวยเหลือเกิน เป็นต้น จึงเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น และเกิดช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย การศึกษา สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมาก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความขัดแย้งโดยตรง เป็นระยะห่างที่เกิดขึ้น ถ้าเราทำให้คนไทยใกล้ชิดกัน ไม่มีระยะห่างต่อกัน ก็ถือว่าเป็นความปรองดอง จึงนำมาพูดรวมกันหลายๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องความขัดแย้งโดยตรงและเรื่องของระยะห่าง จึงมีคำถาม 10 หัวข้อจากคณะกรรมการปรองดอง ถามในเรื่องของการเมือง ที่ทำกิน การเกษตร วัฒนธรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ขบวนการยุติธรรม และยุทธศาสตร์การปฏิรูป

ในเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่ง พรรคชาติพัฒนาจึงมีข้อเสนอให้พรรคการเมืองสร้างกฎเกณฑ์ระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน เอาอดีตมาเป็นตัวตั้ง ดูว่าอดีตเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นแล้วนำไปสู่ความขัดแย้งอะไรบ้าง

 เปิด 10 ประเด็นเสนอกรรมการ

สำหรับประเด็นที่พรรคชาติพัฒนาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการปรองดอง 10 ข้อ อาทิ 1.สร้างความปรองดองก่อนการเลือกตั้ง ภายใต้หลักของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ด้วยการให้อภัยซึ่งกันและกัน 2.เมื่อดำเนินการสร้างความปรองดองแล้ว ควรจัดให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่กำหนดไว้เพื่อลดกระแสการกดดันจากประชาคมโลก

3.ควรปฏิรูปขบวนการยุติธรรม ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นธรรม 4.รัฐต้องปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ทัดเทียมกันทั่วประเทศ ด้วยการนำระบบ ICT มาประยุกต์ให้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 5.รัฐต้องพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน

6.รัฐต้องพัฒนาพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 7.เพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นแก่ผู้กระทำผิดฐานทุจริต และขบวนการพิจารณาคดีทุจรติต้องดำเนินการไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำควารมผิด

8.เร่งรัดการปฏิรูปด้านการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในชนบทให้สูงขึ้น 9. ยกระดับการกีฬาให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยการสร้างอุตสาหกรรมการกีฬาให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ 10 พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นรากฐานอสำคัญของระบบเศรษฐกิจขอประเทศอย่างยั่งยืน

11.แผนยุทธศาสตร์ชาติ ควรมีความยืดหยุ่น ที่สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก และก่อนประกาศใช้ควรทำประชาพิจารณ์เพื่อการยอมรับจากทุกภาคส่วน เป็นต้น

  กุญแจยุติความขัดแย้ง

ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ขยายความถึงแนวทางสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 7 ข้อ ประกอบด้วย

1.ถ้าพรรคการเมืองทุกพรรคมีข้อตกลงกันที่จะปฏิบัติตามนี้น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ เช่น เมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองควรให้ความร่วมมือในการส่งผู้ลงสมัครเลือกตั้ง

2.ทุกพรรคต้องปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับ

3.ต้องคัดคนดีที่สุดให้ประชาชนได้สบายใจแล้วนำเสนอนโยบายที่ยั่งยืนของประเทศ ไม่ใช่นโยบายที่จะชนะเลือกตั้งแต่ประเทศชาติเสียหาย

4.เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ทุกพรรคต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง ถือว่าประชาชนตัดสินแล้ว

5 เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พรรคการเมืองต้องร่วมมือในการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน

6.ต้องลืมอดีตและลดเงื่อนไขระหว่างพรรคต่อพรรคที่อาจจะนำสู่ “เดดล็อกทางการเมือง” อีกครั้งหนึ่ง

และ 7.จากนี้ไปหากจะมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้น ขอให้ใช้เวทีรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการตัดสิน

“คิดว่าถ้าอยู่ในกรอบ 7 ข้อนี้แล้ว ต่อไปจะไม่เห็นปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก”

นายสุวัจน์ ระบุด้วยว่า คิดว่าวันนี้ทุกคนเจ็บปวดมากและมีความเสียหายเกิดขึ้นมากจากปัญหาความแตกแยก ประชาชนสูญเสียความสุข ปัญหาเศรษฐกิจของคนไทยเสียหาย เป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลได้ลงมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เห็นว่าความตั้งใจอย่างจริงจังของรัฐบาลบวกกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีต บวกกับประเทศกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งด้วย หลายปัจจัยจึงเป็นไทม์มิ่ง เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการเรื่องปรองดอง เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนจะให้ความร่วมมือ จึงมีความเชื่อมั่นว่าจะเกิดความปรองดองขึ้น แม้ว่ามันอาจจะไม่เสร็จสมบูรณ์ 100 % เพราะบางเรื่องต้องใช้เวลา เช่น ความเลื่อมล้ำ ต้องใช้เวลา แต่ปรองดองมันจบได้เร็วโดยเฉพาะในภาคการเมือง เราทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้งได้ยิ่งดี

 เชื่อปรองดองก‹อนเลือกตั้ง

การปรองดองมีหลายมิติ อาจจะเร็วบ้าง ช้าบ้าง ต้องดูแป็นเรื่องๆ เช่น การศึกษา อาจต้องใช้เวลาหน่อย แต่การเมืองก่อนเลือกตั้งน่าจะทำได้ ถ้าทุกพรรคให้ความร่วมมือ เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของประเทศ ปัญหาชาติตอนนี้ถ้าเป็นรถก็เหมือนรถติดหล่ม ต้องเสียสละถอยออกมาคนละก้าว

“ผลสรุปออกมาอย่างไรเรารับได้ จึงอยากให้ทุกพรรคให้ความเห็น และให้ทุกฝ่ายมีความจริงใจในการแก้ปัญหาเพื่อเดินหน้าสู่อนาคต”

 ต้องช่วยกันยุติความแตกแยก

นายสุวัจน์ เรียกร้องถึงคนไทยทุกคนว่า “ผมคิดว่าวันนี้ เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันสร้างความปรองดอง ผมไม่ได้มองตัวเองว่า เป็นอดีตนักการเมือง แต่มองตัวเองว่าเป็นคนไทย และรู้ถึงความรู้สึกของประชาชนว่า มีความทุกข์กันแค่ไหน รู้ถึงความสูญเสี่ยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จึงคิดว่าได้เวลาที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ ต้องช่วยกันนำประสบการณ์ มายุติความแตกแยกและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้

นับเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลทำเรื่องนี้ และเชิญภาคการเมืองมาร่วมหาทางแก้ไข ฉะนั้นห้ามปฎิเสธ และจะปฎิเสธไม่ได้เลย ต้องให้ความร่วมมือ อีกทั้งเพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลจากทุกๆส่วนแล้วนำไปกลั่นกรองเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ดีที่สุด และทุกฝ่ายให้การยอมรับที่จะร่วมมือกันเดินหน้าไปตามแนวทางนั้น

ที่ผมเชื่อว่าการปรองดองจะสำเร็จเพราะผมมองในทางบวก คิดว่าจะนำไปสู่สิ่งที่ดีๆของประเทศ

ผมจึงอยากเชิญชวนพรรคการเมือง พวกเราต้องเสียสละ ร่วมมือกันช่วยกันนำเสนอเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุข เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำสิ่งนี้ แม้แต่คนที่ไม่อยู่ภาคการเมือง ถ้ามีไอเดียดีๆที่จะช่วยกันยุติความขัดแย้งผมว่ามันเป็นเวลาของคนไทยทุกคนที่ต้องมาช่วยกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560