จี้รัฐ-เอกชนไทยรับมือ วาระเร่งด่วน WTO's TFA

19 ก.พ. 2560 | 08:00 น.
ในขณะที่ภาครัฐและเอกชนไทยยังกังวลใจว่าปีนี้การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ที่อัตราเท่าใด นายโดนัลด์ทรัมป์ ผู้นำใหม่สหรัฐฯจะก่อสงครามการค้ากับจีนหรือไม่ หรือสัญญาณกีดกันการค้าของเขา จะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไร

เรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องเล็กทันทีหากนำไปเปรียบเทียบกับความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขององค์การการค้าโลก(WTO’s Trade Facilitation Agreement : WTO’s TFA) ที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้เต็มที

"นพพร เทพสิทธา" ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า WTO’s TFA เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาของพิธีการทางศุลกากรของประเทศสมาชิกให้เกิดความคล่องตัว สร้างความชัดเจนในด้านระเบียบ พิธีการให้มีความโปร่งและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในการเชื่อมโยงธุรกรรมทางการค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางจะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-trading ทั้งหมด และจะเป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างประเทศสมาชิก WTO ทั่วโลก

 TFA วาระเร่งด่วน

ทั้งนี้จากที่ WTO ได้บรรลุความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ล่าสุดมีประเทศสมาชิกที่ได้ให้การยอมรับพิธีสารความตกลงแล้ว 108 ประเทศ(จากสมาชิกทั้งหมด 164) ซึ่งหากสมาชิก 2 ใน 3 หรือ 110 ประเทศยอมรับ (เหลืออีกเพียง 2 ประเทศ)ความตกลงก็จะมีผลบังคับใช้ทันที และทุกประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกันมิฉะนั้นอาจถูกใช้เป็นเหตุในการกีดกันทางการค้าได้ โดยสมาชิกที่ยอมรับความตกลงแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีนและอาเซียน

 ไทยรับขŒอตกลงแล้Œว

ในส่วนของไทยได้ยื่นเอกสารยอมรับความตกลงแล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 โดยจากความตกลงของ TFA มี 24 ข้อบัญญัติหลัก รวม 143 ข้อย่อย ซึ่งเวลานี้ไทยได้ขอสงวนไว้ 12 ข้อย่อยเพื่อการปรับตัวภายใน 1 ปี ตัวอย่างเช่น เรื่องกระบวนการตรวจปล่อยสินค้าล่วงหน้า การเปิดเผยข้อมูลการวินิจฉัยตีกลับสินค้า เป็นต้น

"ข้อตกลงเรื่อง TFA หากประเทศไหนไม่ทำตามจะกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าของโลก เพราะอีกประเทศหนึ่งสามารถปฏิเสธที่จะไม่ให้สินค้าของประเทศนั้นเข้าประเทศ ขณะที่ประเทศไหนที่ทำถูกต้องตามมาตรฐานของดับบลิวทีโอ ประเทศที่นำเข้าไม่มีสิทธิปฏิเสธ หากปฏิเสธจะถูกฟ้องร้องได้"

 ไส้ในไทยไม่พร้อม

อย่างไรก็ดีในส่วนของไทยในเรื่องนี้ยังมีความน่าเป็นห่วง เพราะยังขาดความตื่นตัวในการเตรียมพร้อมในทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับความตกลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายเรื่อง เช่น ด้านกระบวนการในเรื่องการแปลหรือการจัดทำข้อมูลด้านต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษที่ต้องแนบไปให้คู่ค้า อาทิ ใบอนุญาตตั้งโรงงาน(รง.4) การรายงานเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) รวมถึงรายงานผลตรวจสอบสินค้าจากห้องปฏิบัติการที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ WTO เป็นต้น

นอกจากนี้การปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ของหน่วยงานรัฐในระยะที่ผ่านมาเป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ เอกชนมีส่วนร่วมน้อยและยังมิได้อ้างอิงแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะส่งผลให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นไปได้ยาก เป็นอุปสรรคในการต่อยอดไปยังการพัฒนาอื่นๆ เช่นการตรวจปล่อยอัตโนมัติที่ประเทศปลายทาง หรือการตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงยังขาดการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรที่เข้าใจในกฎกติกาของความตกลงรองรับ

"จากที่เจ้าหน้าที่ของสภาผู้ส่งออกได้อ่านคู่มือที่ถือเป็นไกด์ไลน์แนวทางปฏิบัติเรื่อง TFA ที่ออกโดย International Trade Center พบมีหลายเรื่องในเชิงเทคนิคที่ไทยยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง"

 เร่งเป็นวาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตามทางสภาผู้ส่งออกขอแนะนำให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามแผนโรดแมป และเป็นข้อบัญญัติหนึ่งของ WTO’s TFA ที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามคือการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าแห่งชาติ(NTFC) อย่างเร่งด่วน ซึ่งโครงสร้างคณะกรรมการฯควรมาจากผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่มีสัดส่วนความสมดุลกัน มีระดับนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน การกำหนดโรดแมปเรื่อง TFA ของประเทศ อ้างอิงตามมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นศูนย์รวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้า และเป็นหน่วยงานหลักในการประสานระดับประเทศกับระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ต้องมีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการของคณะกรรมการใหญ่ซึ่งอาจมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เป็นเลขาฯ เพื่อเชื่อมโยงกับทุกกระทรวงขับเคลื่อนและลงลึกในรายละเอียด

"TFA เป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขัน และเป็นผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีคงต้องลงมาสั่งการด้วยตัวเอง โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ทางสภาพัฒน์จะเป็นแม่งานจัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(กพข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งวาระเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ความตกลงของดับบลิวทีโอจะเป็นวาระหลักสำหรับการพิจารณา และขับเคลื่อนในที่ประชุม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องตื่นตัวรับมือ"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560