ปฐมบทแห่งแผนทีไออีบี (1)

19 ก.พ. 2560 | 03:00 น.
colum07-3237-a หากท่านผู้อ่าน เป็นคนที่ติดตามข่าวสารในแวดวงพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง คำที่ท่านอาจได้เห็นบ่อยๆ คือคำว่า แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint : TIEB (ปี 2559 – 2579) ซึ่งถือเป็นแผนด้านพลังงานที่สำคัญของประเทศสูงสุด แต่ที่มาของแผน TIEB นี้ มีรายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น ผมจึงอยากขอใช้พื้นที่นี้ อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของแผน เพื่อเป็นการทบทวนและปูพื้นก่อนจะเจาะลึกรายละเอียดของแผนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ TIEB นี้ต่อไป

เริ่มต้น ขอชวนท่านผู้อ่าน นั่งไทม์แมชชีนกับผม ย้อนไปช่วงเดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งเวลานั้น ผมและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน นำโดยท่านปลัดกระทรวงพลังงาน (ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม) ได้เข้าไปนำเสนอนโยบายของกระทรวงพลังงานในภาพรวม ต่อหัวหน้า คสช.(พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา) เพื่อนำเสนอแผนสำคัญต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน อาทิ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP)

จากไฮไลต์การประชุมในวันนั้น ท่านหัวหน้า คสช. ได้สั่งการให้บูรณาการทุกแผนพลังงานเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุผลที่แต่ละแผนของกระทรวงพลังงาน ในเวลานั้น กรอบเวลาการดำเนินการของทั้ง 3 แผนข้างต้น ยังมีความแตกต่างกัน อีกทั้ง ยังขาดการบูรณาการเนื้อหาของแผนเข้าด้วยกัน เช่น แผน PDP มีกรอบเวลา 10 -15 ปี แผนอนุรักษ์พลังาน มีกรอบ 20 ปี และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน มีกรอบเวลา 10 ปี เป็นต้น ท่านปลัดอารีพงศ์ จึงได้รับข้อสั่งการนั้น และถือเป็นผู้ที่ริเริ่มปรับแผนด้านพลังงานดังกล่าว ให้สอดคล้องกัน และปรับให้อิงกับแผนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์

รวมทั้งได้ริเริ่มให้มีการนำแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) เข้าด้วยกัน จึงเป็นที่มาของแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวหรือ TIEB ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งกำหนดให้มีระยะเวลา 21 ปี คือเริ่มเข้าเส้นสต๊าร์ทที่ปี 2559 และเข้าสู่เส้นชัยตามปลายแผนที่ ปี 2579

โดยในกระบวนการจัดทำแผน TIEB ก้าวแรก ๆ ที่กระทรวงพลังงานได้เริ่มต้นตั้งไข่นั้น ได้กำหนดแนวคิด การมองภาพรวมของโลก หรือ Global View เพื่อให้เห็นเป็นฐานรากสำคัญในการตั้งต้นจัดทำแผนฯ ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญที่มีมุมมองของภาพรวมของโลกที่มีชื่อเสียง เช่น Mr. Matt Roger อดีตที่ปรึกษาด้านพลังงานอดีต

ประธานาธิบดีสหรัฐอย่างโอบามาMr.Svein Harald Oygardอดีตรัฐมนตรีช่วยคลังของนอร์เวย์Mr.Peter Lambert อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงานด้านก๊าซของประเทศอังกฤษ ซึ่งได้มาช่วยแนะนำ และร่วมวิเคราะห์ถึงภาพรวมด้านพลังงานของไทย

หลังจากนั้น ก่อนการเริ่มทำแผน TIEB กระทรวงพลังงานจึงได้รับรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมด และได้วิเคราะห์ศักยภาพด้านพลังงานของประเทศใน 5 มิติ ที่ล้วนเป็นจุดสลบด้านพลังงานในช่วงเวลานั้น ซึ่งหากไม่ดำเนินการอะไรเลย ดูเหมือนทั้ง 5 มิตินี้ จะส่งให้ประเทศเรามองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ด้านพลังงาน ได้แก่

(1) มิติความมั่นคงทางพลังงาน ที่เราเป็นประเทศต้องนำเข้าพลังงานมากกว่า 50% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเสี่ยง และผลกระทบต่อดุลการค้าของประเทศ

(2) มิติความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนพลังงาน โดยต้นทุนพลังงานต่อหน่วยของประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 หรือประมาณ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ/KTOE ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้น

(3) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

(4) การอุดหนุนราคาพลังงาน จะกลายเป็นภาระหนักของภาครัฐและระบบเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว และจะสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ เนื่องจากต้องมาเป็นค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนราคาพลังงานที่จะตามมาด้วยปัญหาการไม่รู้คุณค่าพลังงาน และมีการใช้ฟุ่มเฟือยขึ้น

และ (5) การสนับสนุนทางสังคมและเศรษฐกิจสำหรับผู้ขาดแคลน ซึ่งหากยังใช้กลไกการอุดหนุนราคาพลังงาน พบว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับประโยชน์เพียงร้อยละ 20 หรือพูดง่าย ๆ ว่าเงินที่รัฐบาลอุดหนุนราคาพลังงานไป 100 บาท จะตกไปที่คนจนจริงเพียง 20 บาท ขณะที่อีก 80 บาทไปที่คนรวย หรือถ้าจะให้เห็นภาพมากกว่านั้น เช่น การอุดหนุนก๊าซหุงต้ม ที่อุดหนุนราคาแบบครอบจักรวาล คือ คนที่มีบ้านหลังละ 40-50 ล้านบาทใช้ก๊าซหุงต้มถัง 48 กิโลกรัม และคนจนหาบเร่แผงลอย ที่ใช้ก๊าซ 5 กิโลกรัม ใช้ราคาก๊าซเดียวกัน ซึ่งไม่มีความยุติธรรม เป็นต้น

ในตอนต่อไป ผมจะกลับมาเล่าถึงโอกาสสำคัญด้านพลังงานของไทย และเริ่มเกริ่นถึงรายละเอียดของแต่ละแผน TIEB นี้ โปรดติดตามครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560