จ่อดึง‘จรัมพร’ นั่งกุนซือทีจี

18 ก.พ. 2560 | 12:56 น.
จ่อดึง “จรัมพร โชติกเสถียร” รั้งเก้าอี้ที่ปรึกษา 3 บอร์ดรวดทั้งบอร์ดบริษัท-บอร์ดบริหารและบอร์ดปฏริ ูปขั้นที่ 3 เพือ่ สานแผนการบินไทยมีกำไรระยะยาว

หลังจากนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) บริษัท การบินไทยจำกัด(มหาชน) ได้พ้นวาระไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560

แหล่งข่าวจาก บมจ.การบินไทย เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการดึงนายจรัมพร ให้กลับเข้ามาช่วยบริหารงานในองค์กรต่อ โดยล่าสุดนาย อารีพงศ์ ภูชะอุ่ม ประธานคณะกรรมการบริหารการบินไทยได้กล่าวกลางที่ประชุมพนักงานว่า แม้นายจรัมพรจะพ้นตำแหน่งไปแล้วแต่จะกลับมาช่วยงานบริษัทในสถานะอื่น จึงมีความเป็นไปได้ว่า อดีตดีดีจะกลับมาเป็นที่ปรึกษาถึง 3 บอร์ด คือ บอร์ดบริษัท บอร์ดบริหาร และบอร์ดปฏิรูป เพื่อสานงานที่คั่งค้างต่อหลังจากแผนปฏิรูปที่นายจรัมพรทำไว้จนถึงปัจจุบันอยู่ในขั้นที่ 3 คือ การเติบโตอย่างมีกำไรในระยะยาว

หลังจากแผนปฏิรูปที่นายจรัมพร ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านั้นแล้วเสร็จไป 2 ขั้นคือขั้นที่ 1 คือ แผนหยุดเลือดดำเนินการจบไปแล้ว และแผนขั้นที่ 2 คือ การสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขัน ที่ยังเหลืออีก 15 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทำให้ในขณะนี้การจัดทำยุทธศาสตร์ 10 ปี (ปี2560-2569) ซึ่งเป็นไปตามการเดินแผนขั้นที่ 3 ตามแผนปฏิรูปการบินไทย ที่ฝ่ายบริหารมองไว้ที่ 40-61 ลำโดยคำนวณ จาก 2 ปัจจัย คือ การซื้อเครื่องบินเพื่อรองรับการขยายตัวในการดำเนินธุรกิจ และการซื้อเครื่องบินมาทดแทนเครื่องบินเก่าที่จะปลดระวางเนื่องจากครบอายุ 20 ปี

นอกจากการดึงอดีตดีดีกลับมาเป็นที่ปรึกษาแล้วยังมีการเตรียมการที่จะดึง นางปรารถนา มงคลกุล ตัวเต็งที่เคยยื่นไปสมัครเก้าอี้ดีดีการบินไทย แต่ได้ถอนตัวไปก่อนหน้านั้น เนื่องจากเข้าข่ายที่จะถูกตัดสิทธิ์ เพราะนางปรารถนาเคยเป็นบอร์ดโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งโรงแรมมีสัญญาระยะยาวกับการบินไทย เพื่อให้เข้ามารับเป็นกรรมการแทน พล.อ.อ.ม.ล. สุปรีชา กมลาศน์ ที่อายุครบ 65 ปีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำให้ต้องพ้นจากการเป็นกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องผ่านการอนุมัติจาก คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)ด้วย

อย่างไรก็ดีกรณีที่กลุ่มเครือข่ายคนการบินไทยจิตอาสาต้านโกงออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาตรวจสอบปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในการบินไทยโดยหยิบยกประเด็นการจัดซื้อเครื่องบิน ปลดระวางเครื่องบินจาก 20 ปีเหลือ 15 ปีทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร นั้น

นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ตรวจสอบบัญชีผลประกอบการของบริษัทว่ามีการแต่งบัญชีและยัดไส้ค่าด้อยสภาพเครื่องบินแอร์บัสเอ 340 ในปี2556-2558 ที่ผิดไปจากความเป็นจริงนั้นในแง่ความถูกต้องในการจัดทำงบการเงินของบริษัทก็ต้องผ่านการตรวจสอบจากสตง.อยู่แล้วทุกปี และเรื่องด้อยค่าเครื่องบิน ก็เป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้

แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวเสริมว่า การด้อยค่าเครื่องบิน เป็นสิ่งที่การบินไทยดำเนินการตามมาตรฐานในการทำบัญชีที่ต้องมีการปรับปรุงราคาทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้งาน ให้มีมูลค่าเท่ากับราคาตลาด ณ ปัจจุบัน ซึ่งเครื่องบินที่การบินไทยปลดระวางทุกลำ ถ้าเครื่องบินลำไหนมีมูลค่าสูงกว่าราคาตลาด ก็ต้องทำเรื่องการด้อยค่าเครื่องบิน ส่วนเครื่องบินที่ยังใช้งานอยู่ในฝูงบิน ก็จะต้องมีการตัดค่าเสื่อมราคาตามการใช้งาน ซึ่งในทุกปีการบินไทยต้องแจ้งแก่สตง.ในเรื่องเหล่านี้

"ต้องยอมรับว่าเครื่องบินที่ทำให้การบินไทยต้องด้อยค่าเป็นจำนวนมาก คือ เครื่องบินแอร์บัส340 ทั้ง 10 ลำ ซึ่งไม่สามารถนำมาทำการบินให้ประสบความสำเร็จได้ จากความผิดพลาดในการสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นดังกล่าวในยุคทักษิณ 1 ทำให้การบินไทยได้ทยอยทำด้อยค่า แอร์บัสเอ 340-500 จำนวน 4 ลำมาตั้งแต่ปี2557 ส่วนแอร์บัสเอ 340-600 จำนวน 6 ลำ ทำด้อยค่ามาตั้งแต่ปี2558"

เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่มีไม่ได้รับความนิยมจากตลาด ทำให้มีราคาตลาดต่ำ แต่เครื่องบินรุ่นนี้มีมูลค่าสูง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ที่ผ่านมาการบินไทยมีผลประกอบการที่ขาดทุน จากการทำด้อยค่าเครื่องบินรุ่นนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แหล่งข่าวกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560