MUTเล็งปั้นวิศวกรพันธุ์4.0 ผลิตรุ่นแรก300อีก4ปีเข้าสู่ตลาด15,000คน

18 ก.พ. 2560 | 07:00 น.
มหาวิทยาลัยมหานครเตรียมเปิดสถาบันนวัตกรรมมหานครเดือนมีนาคมนี้ สร้างวิศวกรแนวใหม่มีความรู้ทางด้านนวัตกรรมป้อนตลาด ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ชี้รุ่นแรก 300 คน เชื่ออีก 4 ปีจะมีบุคลากรดังกล่าว 15,000 คน

ผศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผน และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่ามหาวิทยาลัยมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับวิศวกร เพื่อตอบรับกับนโยบายของรัฐบาลในการเป็นไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งสร้างบุคลากรเข้าสู่ตลาดเอสเอ็มอี โดยจะสร้างวิศวกรรูปแบบใหม่ที่มีความรู้ทางด้านนวัตกรรม รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ภายใต้สถาบันนวัตกรรมมหานคร (Mahanakorn Institute of Innovation-MII) ซึ่งล่าสุดได้มีการลงทุนไปกว่า 60 ล้านบาท ในการปรับโครงสร้างอาคารใหม่เพื่อรองรับบนเนื้อที่กว่า 10,000 ตารางเมตร โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้มีการเรียนการสอนได้ในเดือนสิงหาคม 2560

ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของสถาบันดังกล่าวนั้น เชื่อว่าภายใน 4 ปีข้างหน้าจะมีบุคลาการทางด้านวิศวกรรมที่มีความรู้ทางนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดได้ประมาณ 300 คน โดยทุกปีจะมีการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกปีละ 100 คน เพราะฉะนั้นในอีก 4 ปีถัดจากนั้น จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างวิศวกรกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ตลาดได้ถึง 15,000 คน นอกจากนี้ยังได้มีการจับมือกับบริษัทเอกชนหลายบริษัท เพื่อจัดกิจกรรมแนะนำองค์กร ในการเป็นทางเลือกให้กับนักศึกษาปีสุดท้ายที่จะจบได้เลือกสถานที่ทำงานที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด จากเดิมที่นักศึกษาจะต้องไปฝึกงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลา

สำหรับหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่เศรษฐกิจดิจิตอลและไทยแลนด์4.0 มหาวิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตรเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.สถาบันนวัตกรรมมหานคร ได้แก่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์, วิศวกรรมโลจิสติกส์, วิศวกรรมระบบวัดคุม, วิศวกรรมเมคาทรอนิกส์, วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม และการบริหารจัดการภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารยุคดิจิทัล และหลักสูตร 2 ภาษาด้านวิศวกรรม สำหรับหลักสูตร 2 ภาษานี้ ได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับ The University of Sheffield, Oxford Brookes University ประเทศอังกฤษ และ University of Ulsan ประเทศเกาหลีใต้

2.วิศวกรควบคุม ได้แก่ วิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง, วิศวกรรมโยธา, วิศวกรรมอุตสาหการ, วิศวกรรมเครื่องกล, วิศวกรรมเคมี และวิศวกรรมโทรคมนาคม และ3. คณะต่าง ๆ ได้แก่ คณะวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ, คณะบริหารธุรกิจ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ อย่างไรก็ตาม นอกจากประเทศอังกฤษ และเกาหลีใต้ที่ทางมหาวิทยาลัยไปร่วมมือด้านวิชาการแล้ว ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก ประเทศเดนมาร์ก (The University of Southern Denmark) ซึ่งมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมในระดับโลก และมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น โพลีเทคนิคอล เมืองซีอาน ประเทศจีน (Northwestern Polytechnical University, Xian, China) ซึ่งเป็นสถาบันที่ผลิตดาวเทียม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยติดท็อป 100 ของโลกทั้งสิ้น

"การที่ประเทศไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้ หัวใจสำคัญมีอยู่หลายปัจจัย แต่ในฐานะที่เราเป็นสถาบันการศึกษา หากไทยจะก้าวข้ามประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ จะต้องพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการที่สร้างธุรกิจเป็นคนตัวเองได้จะต้องมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี เราจะต้องไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทิ้งกลุ่มวิศวกรเฉพาะทางแบบเดิมไป เพียงแต่เราต้องการพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560