สตรีมไอทีแตกไลน์หุ่นยนต์ ส่งBlue Ocean Roboticsชิมลาง-เป้า2ปีผลิตเอง

18 ก.พ. 2560 | 09:00 น.
“โรบอท” ธุรกิจแห่งอนาคต เปิดช่องผู้ประกอบการไอที แตกไลน์ธุรกิจรับเทรนด์ “สตรีม ไอที” ชิมลางนำหุ่นยนต์ “Blue Ocean Robotics” จากเดนมาร์กเข้าทำตลาด ก่อนต่อยอดร่วมพันธมิตรผลิตเองภายใน 2 ปี

ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลนั้นให้การสนับสนุนการพัฒนาหุ่นยนต์ และเริ่มมีบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ในไทย พัฒนาหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ขายสินค้า และดูแลผู้ป่วยนอนติดเตียง ออกมาขายทั้งในและต่างประเทศ โดยการในธุรกิจหุ่นยนต์นั้นยังมีอีกมหาศาล โดยบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ตำแหน่งงาน 1 ใน 4 จะถูกซอฟต์แวร์หรือหุ่นยนต์เข้าแทนที่

นายณัฐพงศ์ วนวงศ์สวัสดิ์ ผู้จัดการฝ่ายบริการโซลูชั่น บริษัทสตรีม ไอที จำกัด เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไอทีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และการปะทุทางเทคโนโลยีดิจิคอล ทำให้บริษัทในฐานะผู้ให้บริการวางระบบไอที หรือ เอสไอ ต้องมองหาธุรกิจที่จะรองรับตลาดในอนาคต ซึ่งมองว่าหุ่นยนต์ เป็นหนึ่งในแนวโน้มเทคโนโลยีที่มีบทบาทในอนาคต โดยเริ่มศึกษาเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วและวางแผนธุรกิจไว้ 3 ระยะ

ระยะแรกคือ ช่วงการศึกษา และเชื่อมโยงคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ขึ้นมา ทั้งความร่วมมือกับโรงพยาบาล และคณะวิศวกรรมของมหาลัยวิทยาลัยต่างๆ ควบคู่ไปกับการนำผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในไทย โดยล่าสุดสตรีมไอที ได้รับการแต่งตั้งจาก บลูโอเชี่ยน โรบอติกส์ จากประเทศเดนมาร์ก ให้เป็นผู้จำหน่ายหุ่นยนต์แบรนด์ดังกล่าว

โดยสตรีมไอที ได้เล็งเห็นศักยภาพ และพัฒนาหุ่นยนต์ ร่วมกับบลูโอเชี่ยน โรบอติกส์ เพื่อนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานของมนุษย์ ด้วยโซลูชั่นต่างๆ อาทิ 1.UV-Disinfection Robot หุ่นยนต์เครื่องพ่นสเปย์ในอากาศเพื่อป้องกันรังสียูวีในโรงพยาบาล สำหรับกลุ่มบริการสาธารณสุข 2. Budgee หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เป็น ผู้ช่วยส่วนตัวในการถือสัมภาระต่างๆ และ 3.Beam Tele present series หุ่นยนต์ที่ติดตั้งระบบประชุมทางไกล โดยหุ่นยนต์ที่นำเข้ามาจำหน่ายมีราคาตั้งแต่ 8 หมื่นบาท - 3 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับประเภท และความสามารถ

โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายจากกลุ่มธุรกิจหุ่นยนต์ 15 ล้านบาท จากรายได้รวมบริษัท 700-800 ล้านบาท

“การนำหุ่นยนต์มาใช้ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เนื่องจากมีพื้นฐานอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีการบริการด้านอาหารและสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้ทำให้อัตราแรงงานการผลิตค่อนข้างเต็มอัตรา”

สำหรับระยะที่ 2 คาดว่าภายใน2 ปีข้างหน้าจะมีความร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัย ในการพัฒนา และออกแบบ ต้นแบบหุ่นยนต์ขึ้นมา ก่อนจัดหาแหล่งเงินทุนจากในประเทศหรือร่วมลงทุนกับนักลงทุนในประเทศ เพื่อจัดตั้งบริษัทและผลิตจำหน่ายหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ ไปในตลาดทั้งในและต่างประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560