‘อเมซอน’ เดินหน้าบุกตลาดรีเทล

18 ก.พ. 2560 | 03:00 น.
หากมองย้อนกลับไปทิศทางการปรับตัวของธุรกิจ จะเห็นได้ว่าธุรกิจค้าปลีกเชนใหญ่ในสหรัฐฯ อาทิ วอลมาร์ต ทุ่มเงินซื้อสตาร์ตอัพอี-คอมเมิร์ซ เพื่อรุกตลาดออนไลน์ ขณะที่อเมซอน (Amazon) กลับเดินหน้าบุกตลาดรีเทลเต็มกำลัง ที่ก่อนหน้านี้ก็พึ่งเปิดตัวอเมซอน โก (Amazon Go) ร้านสะดวกซื้อระบบอัตโนมัติ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และร้านหนังสือแบบมีหน้าร้านแห่งแรกที่ซีแอตเติล ในปี 2558 ก่อนที่จะขยายสาขาเพิ่มทั่วประเทศ

สำหรับร้านอเมซอน โก สาขาแรก ตั้งอยู่ในตึกสำนักงานที่เมืองซีแอตเติล โดยลูกค้าสามารถซื้อสินค้าอาหารหลากหลายเป็นทั้งแบบพร้อมทาน และทำสดจากเชฟในร้าน เพียงล็อกอินบัญชีอเมซอนในแอพพลิเคชันอเมซอน โก และสแกนมือถือที่หน้าร้าน เมื่อเลือกหยิบสินค้าที่ต้องการแล้วสามารถเดินออกจากร้านได้เลย ทั้งนี้ ในช่วงทดลองได้เปิดให้บริการกับพนักงานของอเมซอนในซีแอตเติลเท่านั้น ทั้งนี้ การที่อเมซอนประเดิมสาขาแรกในเมืองซีแอตเติล เนื่องจากซีแอตเติลเป็นบ้านเกิดของอเมซอนและการได้ทดลองกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทำให้บริษัทได้เรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมได้รวดเร็วไปอีกขั้นหนึ่ง

เช่นเดียวกับสตาร์บัคส์ เชนร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ ก็มองว่าซีแอตเติลเป็นศูนย์กลางของร้านค้าปลีกและเปิดร้านกาแฟแห่งแรกในตลาดไพก์เพลส ที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐฯ ทั้ง ผุดสาขาโมเดลร้านหรูใหม่ Starbucks Reserve Roasteryสาขาแรกในนครซีแอตเติล ให้ลูกค้าทดลองชิมและซื้อกลับบ้าน ก่อนที่จะขยายสาขาอีก 30 แห่งทั่วโลก โดยเล็งเป้าไปที่เมืองใหญ่อย่าง เซี่ยงไฮ้ นิวยอร์ก และโตเกียว

และดูเหมือนอเมซอนจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ อเมซอนได้ทดสอบบริการรับสินค้าในพื้นที่ใกล้เคียง ที่เน้นสินค้าราคาพิเศษจากร้านค้าในท้องถิ่น โดยลูกค้าสามารถสั่งซื้อและไปรับสินค้าได้เองจากรถบรรทุกในชื่อ Treasure Truck ซึ่งการสั่งซื้อสินค้าจะต้องทำผ่านแอพของอเมซอนผ่านเมนู Treasure Truck เท่านั้น เมื่อเลือกสินค้าและจ่ายเงินแล้วจึงไปรับสินค้าด้วยตัวเอง

สินค้าที่ขายผ่าน Treasure Truck มีตั้งแต่สินค้ายอดนิยม สินค้าพิเศษจากร้านค้าในท้องถิ่น หรือแม้แต่ของหายาก ที่จับมาทำเป็นดีลรายวันให้เลือกซื้อกันเป็นจำนวนจำกัด ซึ่งตอนนี้ยังเปิดให้บริการเฉพาะในเมืองซีแอตเติลเท่านั้น และยังไม่มีแผนจะขยายไปยังเมืองอื่น โดยแคมเปญนี้เรียกได้ว่าเป็นการทดลองของอเมซอน เพื่อปรับใช้กับการรับส่งด้วยลูกค้าเองต่อไป หลังจากก่อนหน้านี้เคยทดสอบมาทั้งส่งของด้วยโดรน และการตั้งตู้ล็อกเกอร์ให้ลูกค้าไปรับของเองมาแล้ว

นอกจากนี้ เกือบ 5 ปี มาแล้ว อเมซอนยังได้ขยายบริการส่งสินค้าประเภทอาหารออกไปนอกเมืองบ้านเกิดของบริษัท ที่ชื่อว่า อเมซอน เฟรช (AmazonFresh) ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มสูงมากที่ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์รายนี้กระโดดเข้าสู่ธุรกิจขายอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าเพื่อการบริโภคทั้งหลายเต็มตัว ซึ่งจากความสะดวกสบายของบริการใหม่จากอเมซอน ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าร้านค้าปลีกรูปแบบใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ซึ่งอาจจะถูกนำไปใช้ประยุกต์ใช้ในพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความเหมาะสมมากขึ้นต่อไป

จากการเติบโตของบริษัทจึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในนครซีแอตเติล ส่งผลให้เมื่อปีที่ผ่านมา ราคาที่อยู่อาศัยปานกลางกระโดดสูงขึ้นถึง 5.48 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับ 5 ปี ก่อนหน้า อยู่ที่ 3.4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560