นโยบาย โดนัลด์ ทรัมป์ กับอนาคตอุตฯยานยนต์ไทย

17 ก.พ. 2560 | 12:00 น.
colum07-3236a หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ก็ได้เดินหน้านโยบายตามที่หาเสียงไว้อย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว มีหลายประเด็นที่เป็นที่จับตา เพราะอาจมีผลสั่นสะเทือนไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์โลก

แนวนโยบายของทรัมป์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยต้องการที่จะดึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำให้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ เพื่อสร้างงานและสร้างความยิ่งใหญ่ให้กลับคืนมาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยใช้วิธียื่น Carrot and Stick เตือนให้เห็นถึงบทลงโทษต่อบริษัทที่นำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกเข้ามาขายในสหรัฐฯ ซึ่งอาจถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 35% ขณะที่ในทางตรงกันข้าม จะมอบรางวัลตอบแทนแก่บริษัทที่ลงทุนในสหรัฐฯ เป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและอาจรวมถึงสิทธิพิเศษอื่นๆ

จากตัวเลขยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ ในปี 2559 รวมทั้งสิ้นประมาณ 17.5 ล้านคัน เป็นรถยนต์นำเข้าถึง 8.2 ล้านคัน ซึ่งเฉพาะยอดรถยนต์นำเข้านี้ ก็มีขนาดใหญ่โตกว่าตลาดรถยนต์ของญี่ปุ่น ประเทศที่มียอดขายสูงติดอันดับ 3 ของโลก (ประมาณ 5.0 ล้านคันในปี 2558 โดยอันดับ 1 คือ จีน 24.6 ล้านคัน และอันดับ 2 คือ สหรัฐฯ 17.5 ล้านคัน จากสถิติของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์โลก หรือ OICA: International Organization of Motor Vehicle Manufacturers)

T07-3236-a ในจำนวนรถยนต์ที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ ราวครึ่งหนึ่งผลิตและส่งมาจากเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ที่ผลิตในเม็กซิโกและแคนาดา ส่วนแหล่งนำเข้านอก NAFTA อันดับแรกคือญี่ปุ่น ตามมาด้วยเกาหลีใต้ และเยอรมนี
โดยทั่วไปแล้ว การจัดสรรการผลิตของค่ายรถจะวางที่ตั้งโรงงานแยกตามภูมิภาค และ Model รถ หากมองจากในแง่มุมนั้น ผลทางตรงต่อบทบาทของไทยในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สำหรับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียนั้นจึงมีจำกัด

แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อกฎกติกาเปลี่ยนไป ผู้เล่นก็ต้องปรับแผนธุรกิจใหม่บนกติกาที่ทรัมป์กำหนดขึ้น ปัจจุบัน เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 7 ของโลก มีการผลิต 3.5 ล้านคันในปี 2558 ส่งออกราว 2.8 ล้านคัน โดยตลาดเป้าหมายหลักคือสหรัฐฯ 2.1 ล้านคัน (ข้อมูลจาก Mexican Automotive Industry Association) ดังนั้น หากโรงงานในเม็กซิโกจะต้องหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดบางส่วนที่อาจหายไปจากสหรัฐฯ เพื่อรองรับกำลังการผลิตส่วนเกินที่จะเกิดขึ้น รถยนต์จากเม็กซิโกจะถูกจัดสรรกระจายไปยังตลาดทั่วโลก ทิศทางดังกล่าวย่อมมีผลในทางอ้อมต่อการวางตำแหน่งประเทศไทยของค่ายรถยนต์ ในการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก

ทั้งนี้ ไทยส่งออกรถยนต์ไปยังทวีปเอเชียและโอเชียเนียรวมกันเป็นสัดส่วน 55% ของปริมาณการส่งออกทั้งสิ้น 1.19 ล้านคันในปี 2559 ซึ่งตลาดนี้ไทยน่าจะยังมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนโลจิสติกส์ เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับตลาดมากกว่าเม็กซิโก แต่ในตลาดอื่นๆ เช่น แถบละตินอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปรับเปลี่ยนแหล่งนำเข้าเพื่อบริหารกำลังการผลิตที่มีอยู่ของค่ายรถ ให้เกิดประสิทธิภาพและผลตอบแทนสูงสุด บนเงื่อนไขสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ที่ถูกกำหนดกติกาโดยผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ

สุดท้ายแล้ว การดำเนินนโยบายของทรัมป์ย่อมมีผลในทางอ้อม ต่อยอดการเติบโตของการส่งออกรถยนต์ของไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนขยายกำลังการผลิตใหม่ของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังต้องดูผลกระทบอีกชั้นหนึ่ง ในกรณีรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นแล้วส่งออกไปยังสหรัฐฯ ถ้าจะต้องปรับเปลี่ยนไปผลิตในสหรัฐฯ มากขึ้น ชิ้นส่วนที่ส่งจากไทยเข้าสู่ Supply Chain ประกอบรถยนต์ในญี่ปุ่นก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ผลโดยรวมจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ขณะนี้ยังต้องรอติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อที่จะสามารถประเมินผลกระทบต่อประเทศไทยที่ชัดเจนมากขึ้นต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560