สถาบันยานยนต์วาดเป้าปีไก่ผลักดันสนามทดสอบ -รถอีวี

17 ก.พ. 2560 | 14:00 น.
สถาบันยานยนต์เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ ,ชิ้นส่วน,อุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง กับหน่วยงานส่วนต่างๆของภาครัฐ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่ได้วางไว้ วันนี้ฐานเศรษฐกิจได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณ วิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ที่จะมาบอกเล่าให้ฟังถึงความคืบหน้าของแผนงานที่เคยประกาศไว้ว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และทิศทางในปีนี้ ว่าจะก้าวกันไปทางไหน จะถึงฝั่งฝันหรือไม่

 โรดแมปยานยนต์ไทย

เทรนด์ของยานยนต์โลกไปในทิศทางไหน ไทยเราก็ต้องตาม ดังจะเห็นจากการที่โลกเริ่มมุ่งหายานยนต์สะอาดและปลอดภัย ซึ่งไทยที่นำโดยภาครัฐก็มีการมองหาซูเปอร์คลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน โดยทิศทางที่ได้เห็นตอนนี้คือ ยานยนต์ไทยไฟฟ้า ซึ่งนอกจากไทยจะเป็นฐานการผลิตรถปิคอัพ ,รถอีโคคาร์ เป้าหมายต่อไปคือต้องการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งอาจจะเป็นปลั๊ก-อิน ไฮบริด ,ไฮบริด,ฟูเอล-เซลส์ ,อีวี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอดูนโยบายการสนับสนุนเกี่ยวกับชิ้นส่วนหรือแบตเตอรี่จากทางภาครัฐก่อน

 แผนงานรถไฟฟ‡า

หากจะเพิ่มรถไฟฟ้าเข้ามา ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะยังไงทุกคนต้องเดินไปในทิศทางนี้อยู่แล้วเพียงแต่ว่าต้องใช้เวลากันอีกสักระยะสำหรับเทคโนโลยีดังกล่าว และแม้ไทยจะชอบหรือไม่ชอบรถไฟฟ้า แต่เทรนด์ของโลกที่ไปในทิศทางนี้ทำให้รถไฟฟ้ามาแน่ อยู่ที่ว่าใครเริ่มก่อนก็ได้เปรียบซึ่งภาครัฐก็มีการตระหนักและในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ก็จะมีการพิจารณาแพ็กเกจในการลงทุนเกี่ยวกับรถไฟฟ้าว่าจะสนับสนุนแบบไหน

 กิจกรรมสนับสนุน

ในปีนี้สถาบันยานยนต์มีเป้าหมายที่จะสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนคนทั่วไป เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่จะเชิญให้เข้ามาดู ชาร์จจิ้งสเตชั่น หรือ สถานีชาร์จไฟ โดยจะติดตั้งทั้งที่ศูนย์บางปู และ กล้วยน้ำไท ซึ่งผู้ที่สนใจจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของยานยนต์ไฟฟ้า มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้า และมีรถไฟฟ้าที่ได้รับความร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์อย่าง นิสสัน ,บีเอ็มดับเบิลยู ,เมอร์เซเดส-เบนซ์ และค่ายอื่นๆที่จะนำรถมาร่วมสาธิตและทดลองวิ่งในพื้นที่จัดงาน

หลังจากนั้นจะจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปอีกประมาณ 3 ครั้ง โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้แนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการว่าจะต้องขยับปรับตัวไปทางไหนยังไง ซึ่งสถาบันยานยนต์อยากจะเป็นตัวกลางให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

 ความคืบหน้าอื่นๆ

อีกหนึ่งแผนงานหลัก คือ สนามทดสอบ และศูนย์ทดสอบยางล้อ ที่สนามชัยเขต ซึ่งภาครัฐวางงบประมาณไว้เบื้องต้น 3,800 ล้านบาท โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 เฟส และเฟสแรกจะได้เห็นในปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ซึ่งศูนย์ทดสอบยางล้อจะเป็นไปตามมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้คือ UN-R117 หลังจากนั้นในเฟส 2 หรือประมาณปี 2562 จะเห็นสนามทดสอบ และเครื่องมือทดสอบมาตรฐาน ภายใต้ข้อตกลง ASEAN MRA 19 และเฟสที่ 3 อาจจะเป็นการทำงานร่วมกับเอกชนเพื่อพัฒนาและวิจัยชิ้นส่วนยานยนต์

 การดูแลกลุ่มชิ้นส่วน

อุตสาหกรรมยานยนต์หนีไม่พ้นชิ้นส่วน ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นจุดแข็งและจุดขายของไทยในอาเซียน เราในฐานะสถาบันยานยนต์มีหน้าที่ต้องสนับสนุนชิ้นส่วนของไทย เช่นเดียวกับภาครัฐ - กระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะมีการช่วยเหลือทุกด้าน แต่กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนก็ต้องมีการปรับตัว ไม่ใช่แค่เพียงการรับจ้างผลิตเหมือนเดิม แต่ต้องมีการวิจัยและพัฒนา มีอินโนเวชั่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยปัจจุบันไทยมีกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน1,500 - 1,600 ราย และกว่า 50% เป็นผู้ผลิตที่อยู่ในเทียร์ 3

 มองยานยนต์ปี 60

ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ต้องดีกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะโครงการรถคันแรกสิ้นสุด ค่ายรถหลายค่ายก็ประเมินว่าผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนรถ ทำให้แต่ละค่ายมีความตื่นตัว มีการทำตลาด อาทิ เปิดตัวรถรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ,รุ่นใหม่ ,แคมเปญ คาดว่าในเดือนมีนาคมที่จะมีงานมอเตอร์โชว์ ตลาดจะมีความตื่นเต้น

นอกจากนั้นแล้วการอัดฉีดเม็ดเงินในโครงการต่างๆของรัฐ การเลือกตั้ง และภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นตลาด คาดว่ายอดขายรถ 8 แสนคัน และส่งออก 1.2 ล้านคัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560