เอเชียแชมป์ได้ดุลฯพญาอินทรี

17 ก.พ. 2560 | 04:07 น.
สหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ มีนโยบายชัดเจนว่าจะไล่แก้ปัญหาการขาดดุลการค้าซึ่งไต่ระดับขึ้นไปที่ 502,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2559 นับเป็นสถิติการขาดดุลการค้าสูงที่สุดในรอบ 4 ปี เขาเล็งรื้อข้อตกลงการค้าเสรีที่เคยทำไว้กับประเทศคู่ค้าและเห็นว่าสหรัฐฯเสียเปรียบ เตรียมตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เชิญชวนแกมข่มขู่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวอเมริกัน จนผู้ผลิตหลายรายปวารณาตัวจะเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯตามคำเชิญชวน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศที่ยังคงมีการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯในมูลค่าสูง การเผชิญหน้ากับสหรัฐฯเพื่อให้ฝ่ายหลังเจรจาต่อรองลดการเสียเปรียบดุลการค้า คงเป็นเรื่องยากจะหลีกเลี่ยง เม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯในอันดับต้นๆ โดนพิษมาตรการของทรัมป์ไปแล้วสะท้อนจากการอ่อนค่าของเงินเปโซนับตั้งแต่ที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งมาจนถึงขณะนี้ หลายโครงการลงทุนชะลอตัวหรือแม้แต่ชะงักงัน ส่วนจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมากที่สุดในโลก แม้จะถูกผู้นำสหรัฐฯกล่าวถึงในลักษณะคุกคามอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการลงมือดำเนินมาตรการใดๆ

ระหว่างช่วงแห่งการรอคอยดูสถานการณ์นั้น นักวิเคราะห์มองว่าประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯหลายรายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ (ดังภาพประกอบ) คือประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงว่าจะต้องเผชิญกับการเจรจาหรือมาตรการกดดันอย่างใดอย่างหนึ่งจากสหรัฐฯ แม้ว่าขณะนี้เหตุการณ์ที่ว่าจะยังมาไม่ถึงก็ตาม

เดบบอราห์เอมส์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์ศึกษาการค้าเอเชีย (เอทีซี) ในสิงคโปร์ เปิดเผยว่า เกือบทุกประเทศในเอเชียส่งออกสินค้าปริมาณมหาศาลไปยังตลาดสหรัฐฯ ปัญหาการขาดดุลการค้าจึงเกิดขึ้นได้ แม้จะไม่ใช่กับทุกประเทศ ยกตัวอย่างในอาเซียน เวียดนามได้ดุลการค้าสหรัฐฯมากที่สุด การส่งออกจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่านับจากปี 2553 เป็นต้นมาส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการของสหรัฐฯเข้ามาตั้งโรงงานในเวียดนามเป็นจำนวนมากเพื่อส่งออกกลับไปยังสหรัฐฯ ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็เสี่ยงที่จะได้รับแรงกระทบจากมาตรการเก็บภาษีสินค้าข้ามแดนของสหรัฐฯมากเช่นกัน เพราะสินค้าส่งออกหลักๆที่เป็นสินค้าทุนและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทดแทนได้ด้วยสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560