เกษตรฯเปิดแผนรับมือภัยแล้ง ทุ่ม1.7หมื่นล.ดัน29โปรเจ็กต์

16 ก.พ. 2560 | 08:00 น.
ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะในปี 2558-2559 วิกฤติค่อนข้างหนัก ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการเกษตรได้รับผลกระทบโดยตรง

ขณะที่เวลานี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูแล้งอีกครั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หน่วยงานหลัก มีแผนเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรในปี 2559/2560 อย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "ธีรภัทร ประยูรสิทธิ" ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ดังรายละเอียด

 ปี 60 น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี

"ธีรภัทร" กล่าวว่า สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปีนี้ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ในช่วงเริ่มต้นฤดูแล้ง (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 55,064 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 31,245 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 10,813 ล้านลูกบาศก์เมตร (เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับปี 2558) จึงคาดการณ์ว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559/2560 จะไม่เกิดวิกฤตที่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีพื้นบางส่วนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้ง

"ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตรทางกระทรวง โดยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการในเชิงรุกให้ทุกหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงดำเนินงานป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรของส่วนราชการ ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่มีรัฐมนตรีว่าการเป็นประธาน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการป้องกัน ลดผลกระทบ และเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์"

 เฝ้าระวัง 48 จ.พื้นที่เสี่ยง

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯโดยกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำแผนที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่ทำการเกษตร คาดจะประสบความแห้งแล้งรวม 48 จังหวัด ใน 345 อำเภอ 2,061 ตำบล เนื้อที่รวม 7.65 ล้านไร่ แยกเป็น พื้นที่ในเขตชลประทาน 0.43 ล้านไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 7.22 ล้านไร่ เมื่อทำการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงภัยแล้งจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ความล่อแหลม (Exposure) และความเปราะบางของพื้นที่ (Vulnerability) พบว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่เขตชลประทานจะรับทราบสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมในการปรับลดการผลิตหรือพักการผลิตทางการเกษตร

ส่วนเกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีจะรับทราบสถานการณ์แล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและจะพักการผลิตไม่ให้ทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง โดยสรุป จึงมีพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดความแห้งแล้งด้านการเกษตรต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อยู่ในบริเวณพื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น 0.45 ล้านไร่ และพืชไร่อายุยาว 0.47 ล้านไร่ รวมทั้งสิ้น 0.92 ล้านไร่

 อนุมัติ 1.7 หมื่นล.รับมือ

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะรัฐมนตี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรตามที่กระทรวงเกษตรฯได้นำเสนอ รวม 6 มาตรการใน 29 โครงการ ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 17,324.82 ล้านบาท แบ่งเป็นงบปกติ 14,832.85 ล้านบาท งบกลาง 2,197.62 ล้านบาท และงบขอเพิ่มเติม 294.35 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1. มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง จำนวน 7 โครงการ 2. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 5 โครงการ 3.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนจำนวน 8 โครงการ 4.มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย จำนวน 7 โครงการ 5. มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ จำนวน 2 โครงการ และ 6.มาตรการจัดทำแผนชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งกรอบแนวทางเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีที่ต้องการทำงานในเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรเป็นไปอย่างเป็นระบบ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 มีจังหวัดที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ พิจิตร บุรีรัมย์ อ่างทอง และเพชรบุรี และกำลังจับตา 17 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ตาก อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ จันทบุรี เพชรบุรี และสงขลา

"ทางกระทรวงได้ประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อลดความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้ โดยบูรณาการงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในจังหวัด"

 เฝ้าระวังไฟป่า 40 จังหวัด

ขณะปัญหาที่ตามมากับความแห้งแล้งของอากาศคือ ไฟป่า ทางคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ให้ความสนใจ และเฝ้าระวัง มี 40 จังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี และนครพนม เป็นต้น

อย่างไรก็ดีปัญหาภัยพิบัติต่างๆ เป็นภัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือรวมทั้งแผนการฟื้นฟูอาชีพและพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยเพื่อให้กลับคืนสภาพและดีกว่าเดิมรวมถึงการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รอบอ่างเก็บนํ้าที่มีปริมาณนํ้าต้นทุนน้อยและไม่ได้สนับสนุนนํ้าเพื่อการเกษตรด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560