คริสเตียนี่ฯโกย2.2พันล. ม.ค.เดือนเดียวคว้ารับเหมา10โครงการ

16 ก.พ. 2560 | 14:00 น.
คริสเตียนี่ฯ โชว์ศักยภาพ เดือนมกราคมปีนี้กวาดรายได้ราว 2,200 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 2560 รับรู้รายได้ 1.2 หมื่นล้าน เชื่อภาวะเศรษฐกิจยังฝืด เกาะติดงานก่อสร้างภาครัฐ

นายพิเชฐ นิ่มพานิชย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท คริสเตียนี และ นีลเส็น(ไทย) จำกัด(มหาชน) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ต้นปี 2560 บริษัทเซ็นสัญญารับเหมางานหลายโครงการคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นแผนงานที่เลื่อนมาจากปี 2559

โดยงานที่ทยอยได้มาช่วงเดือนมกราคม 2560 ประกอบไปด้วย 1.ศูนย์สั่งซื้อสินค้า อิเกีย จังหวัดภูเก็ต ส่วนปรับปรุงเพิ่มเติม (IKEA PUP Store ) 2. ศูนย์ค้าส่งแมคโคร 3.อาคาร H.O. เจียไต๋ เครือซีพี มูลค่า 500 ล้านบาท 4. เมกาโฮม ศูนย์รวมของใช้ในบ้าน วัสดุก่อสร้างของกลุ่มโฮมโปร 5.Overpass Indo China Intersection 850 ล้านบาท 6.Cargill บ้านพักที่โคราช 7. ตลาดสี่มุมเมืองยุคใหม่ เฟส 1 รังสิต มูลค่า 750 ล้านบาท 8. งานบางส่วนของกลุ่มเบทาโกร 9.งานราชการอีกบางส่วนที่ ม.มหิดล และ 10.งานโรงงานช่วงเริ่มต้นที่เมืองย่างกุ้ง ในเมียนมา

"ยังมีงานในนั้นบางส่วนย่อยๆ และกำลังตกลงเฟสต่อไปที่จะเซ็นสัญญาในไตรมาสต่อไป โดยปีนี้ตั้งเป้ากวาดรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่กวาดรายได้ไปทั้งสิ้น 9,000 ล้านบาท โดยยังเกาะงานภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะงานของกรมทางหลวงในส่วนอื่นๆที่ไม่ใช่มอเตอร์เวย์ ซึ่งเบื้องต้นรับได้ 1 สัญญาในช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี และงานรถไฟฟ้า อีกทั้งยังมีงานในประเทศและงานจากต่างประเทศทยอยเข้ามาเสริมต่อเนื่องอีกด้วย แต่งานระดับเมกะโปรเจ็กต์สำหรับคริสเตียนี่ยังค่อนข้างยากพอสมควร"

นายพิเชฐยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจปี 2560 ว่าเศรษฐกิจในปีนี้ยังจะอยู่ในภาวะฟื้นตัวแต่ยังเห็นว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจมีอย่างต่อเนื่อง ภาวะงานยังฝืดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั่วยุโรปและอเมริกา อาจมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศที่จะส่งแรงกดดันภาคการส่งออกไว้ อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ราคาสินค้าตกต่ำ ยังทำให้รายได้ครัวเรือนต่ำตามไปด้วย รวมถึงตลาดแรงงานซบเซา ส่วนความผันผวนที่เห็นชัดคือความเสี่ยงในตลาดการเงินของโลก

"ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างจะปรับตัวหรือรับมืออย่างไรนั้นมองว่าจากปัจจัยรวมของเศรษฐกิจโลกยังมีผลต่อไทยและภูมิภาคนี้ต่อไป ถึงแม้รัฐจะเร่งผลักดันโครงการทยอยออกมาแต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เวลานานและนโยบายเร่งเบิกจ่ายของรัฐก็เริ่มชะลอลง อีกทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงสูงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ประการสำคัญมีเพียงโครงการภาครัฐที่จะเกื้อหนุนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศให้เดินต่อไปได้ แต่ในภาคเอกชนยังไม่เห็นทิศทางที่ดีขึ้นเลย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560