บอร์ดกทพ.ไฟเขียว2ทางด่วน เข้าระดมทุนผ่านTFF4.5หมื่นล้านชงครม.พฤษภาคมนี้

15 ก.พ. 2560 | 14:00 น.
บอร์ดกทพ. ไฟเขียวนำทางด่วนฉลองรัชและบูรพาวิถี เข้ากองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินระดมทุน 4.5 หมื่นล้านบาท ตัวเลขรายได้ปัจจุบันทั้ง 2 เส้นทางรวมกว่า 5,000 ล้านบาท ปริมาณรถใช้เส้นทางวันละ 3.5-3.6 แสนคัน ล่าสุดยังมีลุ้นทางด่วน N2

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าคณะกรรมการ(บอร์ด) กทพ. เห็นชอบตามที่กทพ.ได้รายงานกรณีนำทางด่วนฉลองรัชและทางด่วนบูรพาวิถี เข้าไปร่วมกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(Thailand Future Fund :TFF) เพื่อนำเงินจากการระดมทุนที่มีความต้องการวงเงินประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้บอร์ดได้ให้ข้อสังเกตในกรณีการก่อปัญหาภาระหนี้เดิมที่อาจจะมีขาดช่วงบางช่วงบางตอนได้นั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินโครงการนี้ได้

โดยหลังจากนี้กทพ. จะแจ้งเรื่องกลับไปยังกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินรายละเอียดอื่นๆต่อไปพร้อมกับดำเนินการเรื่องสัญญาแล้วจึงจะกลับมานำเสนอบอร์ดกทพ. อีกครั้งก่อนนำส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) พิจารณาตรวจร่างสัญญาดังกล่าวเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้อนุมัติให้ดำเนินการ

“ช่วงก่อนที่จะนำเสนอครม.นั้นอาจจะต้องมีการประชาสัมพันธ์และเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุน(มาร์เก็ตซาวดิ้ง) ให้ประชาชนและนักลงทุนแสดงความสนใจประกอบโครงการดังกล่าวนี้ด้วย เพื่อให้ทราบว่าจะมีผู้สนใจลงทุนหรือไม่ อย่างไร มากน้อยแค่ไหน รายใดบ้าง ทั้งนี้ปัจจุบันขั้นตอนดำเนินการสามารถปฏิบัติควบคู่กันไปได้”

ทั้งนี้ตามข้อมูลปริมาณการจราจรของทางด่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกทพ.ในการนำไประดมทุนผ่านกองทุน TFF พบว่าทางพิเศษฉลองรัชมีความจุการจราจร3.5 แสนคันต่อวันปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันปีนี้ราว 2.2 แสนคันต่อวัน อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 1.5% และรายได้ค่าผ่านทาง 3,000 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 4.1% ต่อปี ทางด่วนบูรพาวิถี มีความจุการจราจร 3.6 แสนคันต่อวัน โดยปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันปี 2560 จำนวน 1.4 แสนคันต่อวัน อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 3.1% รายได้ค่าผ่านทาง 2,000 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย ต่อปี 5.4%

นอกจากนั้นผู้ว่ากทพ.ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) ขอดำเนินการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N2 ว่ามีมติให้กทพ.ดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปพร้อมกับให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ศึกษาความเป็นไปได้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลควบคู่กันไปให้แล้วเสร็จแล้วนำมาหารือร่วมกันอีกครั้ง

“สนข.จะใช้ระยะเวลาศึกษานานถึง 14 เดือนแต่เมื่อศึกษาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสมก็จะต้องหยุดดำเนินการ ประการหนึ่งนั้นช่วงแยกบางเขนจะมีการก่อสร้างรถไฟและรถไฟฟ้าความเร็วสูง แนวเส้นทางอาจจะกระทบแนวก่อสร้างและต้องใช้ระดับความสูงกว่า 26 เมตรซึ่งถือว่าลงทุนค่อนข้างมากหากจะต้องผ่านแนวก่อสร้างรถไฟและรถไฟความเร็วสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ดังนั้นข้อเสนอของกทพ.ที่จะเริ่มต้นโครงการช่วงแยกเกษตรเป็นต้นไปถึงถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกจึงมีความคุ้มค่ามากกว่า ปัญหาน้อยกว่า โดยช่วงจุดตัดถนนสุขาภิบาล 1 และทางด่วนอาจณรงค์-รามอินทราจะเป็นจุดการเชื่อมต่อที่สำคัญของทางด่วนเส้นทางนี้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560