โยธาฯคลอดผังระบายน้ำ คุมเข้มสร้างบ้านต้องกันที่โล่ง 50% ทำแก้มลิง เว้นถอยร่น 12 ม.

15 ก.พ. 2560 | 09:00 น.
กรมโยธาฯ เตรียมคลอดผังระบายนํ้าคุมเข้ม โฟกัสพื้นที่ลุ่มภาคกลาง สร้างบ้านต้องกันพื้นที่แก้มลิง 50%100 ตารางวา กันพื้นที่ 50 ตารางวาเป็นพื้นที่ชะลอนํ้าห้ามสร้างอาคารขวางทางนํ้าไหลผ่าน เว้นระยะถอยร่นริมแม่นํ้าคูคลองตํ่าสุด 3 เมตร สูงสุด 12 เมตร

สาเหตุหลังน้ำท่วมใหญ่เกิดจาก การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ การตั้งชุมชนก่อสร้างอาคารกีดขวางทางน้ำ โดยเฉพาะการรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งการละเลยจากท้องถิ่นให้มีปฏิกูลตะกอนดินทำแม่น้ำตื้นเขิน

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการสำรวจพื้นที่ทั่วประเทศพบว่า พื้นที่กลางน้ำทุกจังหวัดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มน้ำ กลับมีการก่อสร้างต่างๆ มีชุมชนเกิดขึ้นหนาแน่น มีโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้น ที่ยังขาดการควบคุมทางผังเมือง

ขณะที่พื้นที่ปลายน้ำ ปากคลองทุกพื้นที่มีตะกอนดินทับถมทำให้ตื้นเขินการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลักและทะเลไม่สะดวก ล่าสุด กรมได้ วางผัง และมาตรการ บรรเทาอุทกภัย ลุ่มน้ำทั่วประเทศ 25 ลุ่มน้ำ โดยจะนำโมเดลของจังหวัดจันทบุรีมาใช้ในการทำผังระบายน้ำแก้น้ำท่วมทั่วประเทศ

สำหรับข้อบังคับที่จะทำผังระบายน้ำ และแทรกลงในผังเมืองรวมจังหวัดโดยบังคับในทุกจังหวัด ซึ่งกรมได้กำหนดแนวทางการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยด้วยมาตรการทางผังเมือง ซึ่งเป็นผังระดับบังคับใช้ตามกฎหมาย การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามกฎกระทรวงผังเมืองรวมทั่วประเทศ คือ 1. กำหนด พื้นที่โล่ง แก้มลิง และพื้นที่ แหล่งน้ำเพื่อนันทนาการ ในการควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินสอดคล้องกับภูมิประเทศ แนวน้ำท่วมหลาก พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และพื้นที่รับน้ำ

2. กำหนด พื้นที่ ชนบทและเกษตรกรรมเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ทีดิ่น ให้มีความหนาแน่นน้อยสุด และให้มีที่อยู่อาศัยและกิจกรรมอื่นเบาบาง 3.กำหนด ระยะถอยร่น จากริมแม่น้ำ คูคลอง และแหล่งน้ำ ป้องกันสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำและกีดขวางทางระบายน้ำ ไม่น้อยกว่า 3 เมตร ถ้าความกว้างของแหล่งน้ำ น้อยกว่า 10เมตร กรณีณี แหล่งน้ำกว้าง มากกว่า 10 เมตร ให้ถอนร่นไม่น้อยกว่า 6 เมตร และ ถอยร่นไม่น้อยกว่า 12 เมตร ถ้าเป็นแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ เช่นบึง ทะเลสาบ หรือทะเล

การบังคับใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามผังระบายน้ำจะเน้นกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ลุ่ม ตั้งแต่จังหวัดพระครศรีอยุธยาลงมา กำหนด ห้าม ก่อสร้างอาคารกีดขวางทางน้ำบริเวณ พื้นที่น้ำไหลผ่านที่เป็นปากประตูลงคลองแม่น้ำ และทะเล ห้ามจัดสรรที่ดินทุกประเภท แต่จะอนุญาตกรณีที่เป็นบ้านเกษตรกร จะต้องสร้างยกพื้นสูงให้น้ำไหลผ่านได้ พื้นที่นอกเหนือทางผ่านของน้ำ อนุญาตให้ถมดินตามพระราชบัญญัติ(พรบ.) ถมดิน ขุดดิน ไม่เกิน 50เซนติเมตร ป้องกันไม่ให้ เกิดการขวางการไหลของน้ำ การก่อสร้างบ้านอยู่อาศัยทั่วไป หรือการจัดสรรที่ดินขาย ห้ามสร้างบ้านเต็มพื้นที่ กลับกันต้องแบ่งพื้นที่ 50%เป็นแก้มลิง ไว้ชะลอน้ำ แต่ห้ามปูด้วยซีเมนต์หรือคอนกรีต เช่นมีที่ดิน 100 ตารางวา ต้องแบ่งพื้นที่ 50ตารางวาเป็นแก้มลิงให้ท้องถิ่น

นายอิสระ บุญยัง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวถือเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย คือ 1.การออกแบบพื้นที่หน่วงน้ำ 2.แบบของสิ่งก่อสร้างต้องมีความเหมาะสมสามารถระบายน้ำได้ดี 3.กำหนดแบบสาธารณูปโภคภาครัฐ ไม่ให้กีดขวางทางน้ำ รวมทั้งระบบการบริหารจัดการน้ำต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560