ทางด่วนดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก เชื่อมโซนพระราม 3 สู่ภาคใต้

15 ก.พ. 2560 | 12:00 น.
โครงการนี้จัดเป็น 1 ใน 6 โครงการระยะเร่งด่วนตามแผนการพัฒนาระบบทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)ที่จะเร่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป มีระยะทางประมาณ 18.7 กิโลเมตรแนวเส้นทางเริ่มจากช่วงถนนพระราม 3 เชื่อมกับจุดทางด่วนเฉลิมมหานครและทางด่วนศรีรัชช่วงกิโลเมตรที่ 18+000 โดยช่วงพระราม 3 -ดาวคะนองมีระยะทางช่วงนี้ประมาณ 17.10 กิโลเมตร โดยจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยาคู่ขนานไปกับสะพานพระราม 9 หรือสะพานแขวนในปัจจุบัน

ในส่วนช่วงดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทางประมาณ 11.60 กิโลเมตรไปสิ้นสุดที่จุดเลยจากทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนประมาณ กิโลเมตรที่ 13+000 ไปตามทางหลวงหมายเลข35 มุ่งสู่ภาคใต้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

[caption id="attachment_129974" align="aligncenter" width="503"] รูปแบบโครงสร้างช่วงสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา รูปแบบโครงสร้างช่วงสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา[/caption]

สำหรับจุดด่านทางขึ้น-ลงของทางด่วนเส้นทางนี้มีจำนวน 7 จุดสำคัญประกอบด้วย ด่านแห่งที่ 1 (ถนนพระราม 2 ซอย 84 ใกล้ชุมชนบางกระดี่)ด่านแห่งที่ 2 (ถนนพระราม 2 ซอย 69 ใกล้ถนนบางขุนเทียน) ด่านแห่งที่ 3 (ถนนพระราม 2 ซอย 50 ใกล้วัดเลา) ด่านแห่งที่ 4 (ถนนพระราม2 ซอย 33 ใกล้วัดยายร่ม)ด่านแห่งที่ 5 (ถนนพระราม 2 ซอย 27 ใกล้ถนนพุทธบูชา) ด่านแห่งที่ 6 ด่านสุขสวัสดิ์ และด่านแห่งที่ 7 ด่านบางโคล่ โดยที่ด่าน ดาวคะนอง 2 จะเป็นด่านยกระดับ

ลักษณะโครงการเป็นแนวเส้นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร(ทิศทางละ 3 ช่องจราจร)ซ้อนทับไปตามเกาะกลางถนนพระราม 2 จนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระราม 3ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ โดยช่วงที่ข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจรทิศทางละ 4 ช่องจราจรขนานอยู่ด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9

มูลค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวนี้ 31,244 ล้านบาท จำแนกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประมาณ 807 ล้านบาท(ค่าเวนคืนที่ดินประมาณ 526 ล้านบาท ค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง ประมาณ 681 ล้านบาท) ค่าก่อสร้าง(รวมค่าควบคุมงาน) 30,437 ล้านบาท

ปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างเสนอรัฐบาลให้รัฐสนับสนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด(ประมาณ 807 ล้านบาท) และระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(Thailand FutureFun : TFF) พร้อมขอความเห็นชอบเรื่องพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร อีกทั้งขอความเห็นชอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560