'ฟาสต์ฟิต' แห่ชิงลูกค้า

14 ก.พ. 2560 | 13:00 น.
“ฟาสต์ฟิต” แห่ผุดสาขากระจายเป็นดอกเห็ด สบช่องหารายได้หลังเศรษฐกิจซบลูกค้าทนใช้รถเก่า “บี-ควิก” ลงทุน 50 ล้านบาทเปิดแวร์เฮ้าส์เก็บยางและศูนย์อบรมใหม่ปตท.ตั้งเป้าเปิด “ฟิตออโต้” ครบ 100 แห่งภายใน 5 ปี
ศูนย์บริการ-บำรุงรักษารถยนต์หลังหมดประกันหรือ “ฟาสต์ฟิต” (Fast Fit)เป็นธุรกิจที่ขยายตัวในช่วง10 ปีหลัง สอดคล้องไปกับยอดขายรถยนต์ใหม่

โดยค่ายยางรถยนต์ระดับโลกที่ผลิตยางป้อนโรงงานผู้ผลิตรถยนต์(โออีเอ็ม) ปีๆหนึ่งก็ผลิตเป็นหลัก 10 ล้านเส้นอยู่แล้ว แต่เมื่อตลาดทดแทน (อาร์อีเอ็ม) มีการเติบโตสูงก็ไม่ยอมเสียโอกาสในธุรกิจ อย่าง “บริดจสโตน” ที่มี แอค (ACT) ,ค็อกพิต (Cock Pit)และ ออโต้ บอย (Auto Boy) ส่วน “มิชลิน” มี ไทร์พลัส ด้าน “กู๊ดเยียร์” กับ กู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์ และค่าย ต.สยาม ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายยางนำเข้าทั้ง โตโยไทร์ นิตโตะ คึมโฮ ดำเนินกิจการชื่อ กริป (Grip) ด้านผู้เล่นหน้าใหม่แต่เป็นรายใหญ่ ปตท. กำลังสร้างแบรนด์ “ฟิต ออโต้” ศูนย์บริการตรวจเช็คสภาพและบำรุงรักษารถยนต์ที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.เป็นหลัก โดยปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัยหรือดูดีกว่าการให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแบบเดิมๆ

“เราเป็นน้องใหม่ ที่เพิ่งจะเข้ามารุกตลาดนี้ได้ 2 ปี โดยจุดอ่อนของเราคือสินค้าที่อาจจะไม่หลากหลายเท่าคู่แข่ง แต่บริการต่างๆถือว่าครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนยางรถยนต์ ที่มีให้เลือก 7 ยี่ห้อ เปลี่ยนแบตเตอรี่ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และซ่อมเบาทั้งหมด คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 210 ล้านบาท ” บูรณิน รัตนสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจหล่อลื่น บมจ.ปตท.กล่าว

ปัจจุบัน ปตท. มีศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร ภายใต้ชื่อ ฟิต ออโต้ โดยมีจำนวน 25 สาขา และมีเป้าหมายภายใน 5 ปีจะเพิ่มเป็น 100 แห่งทั่วประเทศ

ตลาดนี้ยังเชื้อเชิญให้ผู้เล่นหน้าใหม่ ที่ลุยธุรกิจรถยนต์อยู่แล้วลงมาแข่งขัน ล่าสุดกับ เคซี.ออโตโมทีฟ แพสชั่น กรุ๊ป ผู้จำหน่ายยางและล้ออัลลอยแบรนด์ “เคซี” ยังปรับแผนงาน เตรียมเปิดศูนย์ฟาสต์ฟิต ให้บริการแบบครบวงจรแบบวัน สต๊อป เซอร์วิส โดยจะทำแฟลกชิพสโตร์สาขาแรกที่เมกะ บางนา บนเนื้อที่ 2 ไร่ ลงทุนไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปีนื้ หลังจากนั้นจะมีแผนขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไซส์อีกด้วย

ส่วนรายเก่าที่เป็นรายใหญ่ “บี-ควิก” ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง โดยชูบริการการเปลี่ยนยางเป็นภาพลักษณ์ใหญ่ ขณะที่ “เอ็มเอ็มเอส บ๊อชคาร์ เซอร์วิส” ในเครือ เอ็มจีซี-เอเชีย เจ้าพ่อในธุรกิจรถยนต์ครบวงจร พยายามเดินหน้าขยายสาขาไปที่แถบปริมณฑลมากขึ้น

นางสาวบุศรารัตน์ อัสสรัตนกุล ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์บริการรถยนต์ บี-ควิก เปิดเผยว่า กลยุทธ์หลักในปีนี้จะมีการเพิ่มศูนย์เทรนนิ่ง กับแวร์เฮาส์สำหรับเก็บสต๊อกยาง และขยายจำนวนสาขาศูนย์บริการ จากจำนวน 134 แห่งก็จะเพิ่มอีก 12- 15 แห่งภายในสิ้นปี 2560 โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 350- 400 ล้านบาท

“เราเพิ่มพื้นที่ศูนย์เทรนนิ่ง เนื่องจากมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรต้องมีการอบรมเพื่อให้บริการมีคุณภาพมาตรฐานเทียบเคียงกัน และเพิ่มแวร์เฮาส์ เพื่อเก็บยางรถยนต์ โดยทั้ง 2 ศูนย์จะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้ ใช้เงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท และยังเพิ่มสินค้ามากขึ้น อาทิ น้ำมันเครื่องที่เดิมมีโมบิลวัน ก็จะเพิ่มเชลล์ หรือ ยางรถยนต์ที่มีกว่า 10 ยี่ห้อ ก็จะเพิ่มบีเอฟ กู้ดริช และเนกเซ่นจากเกาหลี โดยมั่นใจว่าจะมียอดขายตามเป้าหมายที่วางไว้คือ 7,000 ล้านบาทเติบโต 10 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 6,300 ล้านบาท“ นาวสาวบุศรารัตน์ กล่าว

...จะเห็นว่าธุรกิจนี้มีการแข่งขันกันดุเดือด ทั้งผู้เล่นที่เป็นค่ายยาง และค่ายฟาสต์ฟิตที่ดำเนินธุรกิจโดยตรง ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามสนับสนุนการหารายได้ในส่วนบริการหลังการขายให้ดีลเลอร์อย่างเต็มที่ ทั้งเปิดแคมเปญขยายเวลารับประกันออกไป 1-2 ปี(จ่ายเงินเพิ่ม) ชูจุดขายอะไหล่แท้พร้อมรับส่วนลด หรือชวนลูกค้าให้นำรถกลับมาตรวจเช็คฟรีที่โชว์รูมแม้จะหมดประกันแล้ว และถ้ามียอดใช้จ่ายตามกำหนด มีสิทธิ์ลุ้นชิงโชครถยนต์คันใหม่ ซึ่งแคมเปญบริการหลังการขายแรงๆมักจะมาในช่วงเทศกาลใหญ่ๆอย่างปีใหม่สากล และสงกรานต์ ที่ลูกค้าต้องใช้รถเดินทางไกล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560