หวั่น‘วิกฤติหนี้กรีซ’ปะทุซ้ำ เจรจาเงินช่วยเหลือไม่คืบก่อนหลายประเทศเลือกตั้ง

13 ก.พ. 2560 | 13:00 น.
วิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซส่อแววปะทุซ้ำขึ้นมาอีกครั้ง หลังกรีซ ยุโรป และไอเอ็มเอฟยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขเงินช่วยเหลือกันได้ ซ้ำเติมความเสี่ยงต่อยุโรปที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในหลายประเทศ

ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซกลายมาเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมา หลังจากเจ้าหนี้ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายยุโรป และกองกุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีความเห็นขัดแย้งกัน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไอเอ็มเอฟเปิดเผยรายงานการประเมินสภาพเศรษฐกิจของกรีซ ระบุว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ในสภาวะที่ไม่ยั่งยืนอย่างสูง โดยมีแนวโน้มการเติบโตต่ำถ้าปราศจากการลดมูลค่าหนี้และการปฏิรูปครั้งใหญ่ต่อระบบบำนาญและภาษี

ไอเอ็มเอฟกล่าวเตือนอีกว่า ถ้ากรีซไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและได้รับการผ่อนคลายภาระหนี้สิน อาจนำไปสู่การตึงตัวทางการเงินอีกครั้ง ซึ่งถ้าไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม อาจส่งผลให้เกิดความกังวลต่อโอกาสที่กรีซจะต้องออกจากยูโรโซนอีกครั้ง

การเจรจาระหว่างกรีซและเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการปล่อยเงินช่วยเหลือครั้งที่ 3 มูลค่า 8.6 หมื่นล้านยูโร ได้หยุดชะงักลงไปหลังจากเกิดความเห็นที่ไม่ลงรอยระหว่างไอเอ็มเอฟและกลุ่มยูโรโซนเกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจ เป้าหมายงบประมาณ และหนี้สาธารณะของกรีซ แม้ว่าไอเอ็มเอฟจะไม่ได้สมทบทุนเงินช่วยเหลือรอบที่ 3 ให้กับกรีซอย่างเป็นทางการ แต่ยูโรโซนต้องการให้สนับสนุนเงื่อนไขการกู้ยืมก่อนปล่อยเงินกู้ให้กับกรีซ

ไอเอ็มเอฟมองว่ากรีซจะไม่สามารถทำตามเป้าหมายงบประมาณเกินดุลที่ยุโรปตั้งไว้ที่ 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2561 ได้ โดยถ้าจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย 3.5% กรีซจะต้องปฏิรูปกฎหมายภาษีและเงินบำนาญ ขณะที่ไอเอ็มเอฟคาดว่าภายใต้นโยบายเศรษฐกิจปัจจุบันของกรีซ ตัวเลขดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5% เท่านั้น และยูโรโซนจะต้องยินยอมลดมูลค่าหนี้ให้กับกรีซ

ด้านนายยูคลิด ซากาโลตอส รัฐมนตรีคลังของกรีซ กล่าวตอบโต้รายงานของไอเอ็มเอฟว่า การวิเคราะห์ของไอเอ็มเอฟไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อสันนิษฐานที่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป ขณะที่นายเยอรอน ไดจ์เซลบลอม รัฐมนตรีคลังเนเธอร์แลนด์และประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน กล่าวว่ารู้สึกประหลาดใจกับรายงานของไอเอ็มเอฟ เพราะกรีซมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าที่ระบุในรายงาน

แม้ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มเจ้าหนี้และกรีซจะยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และกรีซยังมีเงินพอใช้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมโดยที่ยังไม่ต้องรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่ในเวลานี้การบรรลุข้อตกลงให้ได้โดยเร็วนับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากหลายประเทศในยูโรโซนกำลังจะเข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้ง

โดยการประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะถึงการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 15 มีนาคม ตามด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกในวันที่ 23 เมษายน และรอบสองวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งถ้ากรีซและเจ้าหนี้ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้โดยเร็ว อาจทำให้การเจรจาและปล่อยเงินช่วยเหลือให้กับกรีซมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ช่วงเวลาสำคัญคือเดือนกรกฎาคม ซึ่งกรีซมีกำหนดชำระหนี้ประมาณ 8,000ล้านยูโร โดยส่วนใหญ่เป็นการชำระคืนให้กับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยกรีซจะไม่มีเงินพอชำระหนี้ก้อนดังกล่าวถ้าไม่ได้รับเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ทันเวลา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560