หลอมความรัก ผนึกพลังชุมชน ‘กว๊านพะเยา’ สายน้ำแห่งชีวิต ตานข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวง

12 กุมภาพันธ์ 2560
กว๊านพะเยา แหล่งทะเลสาบนํ้าจืดขนาดใหญ่ของประเทศ เป็นพี้นที่และทำเลที่สัมพันธ์ของการสืบสานความงดงามทางวัฒนธรรมอย่างเช่น ขบวนเรือแห่ข้าวทิพย์หรือตานข้าวทิพย์อ.วิถี พานิชพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา ฉายภาพความเป็นมาของกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า ตานข้าวทิพย์ ได้ริเริ่มขึ้นในปี 2550ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่บนกรอบพื้นฐานการผสมผสานประเพณีดั้งเดิมของชาวพะเยาในท้องถิ่น อย่างเช่น ประเพณีตานข้าวใหม่เดือนสี่เป็งและประเพณีสักการะพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของคนพะเยาที่ตั้งอยู่ ณ วัดศรีโคมคำ(พระอารามหลวง)ริมกว๊านพะเยา

M30-323503 อ.วิถี พานิชพันธ์ เผยต่ออีกว่า การตกผลึกของทั้ง2 ประเพณีได้กลั่นกรองเป็นวัฒนธรรมอันดีงามในชื่อ “กว๊านพะเยาสายนํ้าแห่งชีวิต ตานข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวง” ซึ่งเห็นได้ชัดจากการเชื่อมโยงกับมิติของการท่องเที่ยวกว๊านพะเยาในช่วงฤดูนี้หรือวันเพ็ญเดือน 3 ได้อย่างเหมาะสมและสมดุล ทั้งในแง่ของบรรยากาศที่สวยงาม ช่วงเวลา และสภาพอากาศที่สมส่วนมีหมอกปกคลุมและอากาศเย็นสบายเหมาะแก่การแห่ขบวนทางเรือ เกิดเป็นภาพที่สวยงามและอาจนับได้ว่าเป็นสถานที่แห่งเดียวของประเทศไทยที่จะสามารถจัดกิจกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบนี้ ถือได้ว่าเป็นการบูรณาการกับการเรียนการสอนในรายวิชาอารยธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อให้นิสิตใหม่ที่มาจากหลายท้องถิ่นต่างภูมิภาคต่างจังหวัดได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดพะเยาพร้อมทั้งได้รับความรู้นอกห้องเรียนไปด้วย

นอกจากการบูรณาการด้านการศึกษาแล้วนั้น ในแง่มุมของภาคสังคม ในปี พ.ศ. 2557คุณจุฬาสินี พรหมเผ่า นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา ได้ประชุมนำชาวบ้าน 14 ชุมชน จำนวนกว่า 200 คน ในเขตเทศบาลเมืองพะเยาเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อร่วมกันคิดและผลิตแนวทางการสรรค์สร้างประเพณีดังกล่าวให้แผ่ขยายไปวงกว้างในการผสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน อาทิ แต่เดิมแต่ละชุมชนจะไปถวายข้าวใหม่ในวัดประจำชุมชนของตนเอง แต่เราได้ปรับและเพิ่มเติมวันจัดกิจกรรม โดยได้เชิญชวนชาวบ้านให้มาร่วมล่องเรือไปถวายข้าวใหม่แด่องค์พระเจ้าตนหลวงในช่วงประเพณีนี้ร่วมกับนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของกิจกรรมที่มีการนำประเพณีการถวายข้าวใหม่เดือนสี่เป็งมาบูรณาการเพื่อการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจึงได้เกิดเป็นความร่วมมือต่อมาในปี 2558 - 2559

M30-323502 ซึ่งกิจกรรมสำหรับประเพณีดังกล่าวนั้น มีหลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแข่งขันห่อข้าวต้มมัดแบบพื้นเมือง การจัดพิธีการกวนข้าวทิพย์ ณ ข่วงวัฒนธรรมเทศบาลเมืองพะเยา และพร้อมใจกันนำข้าวต้มมัด ข้าวใหม่ และข้าวทิพย์ที่กวนในคืนก่อนหน้านั้นจัดขบวนแห่ทางนํ้าอย่างยิ่งใหญ่ไปถวายพระเจ้าตนหลวงในวันถัดไป พร้อมกันนี้ช่างฟ้อนหญิงชาวชุมชนกว่า 100 คน ได้ร่วมใจฟ้อนเล็บต้อนรับขบวนแห่ข้าวทิพย์หน้าพระวิหารหลวงวัดศรีโคมคำ (พระอารามหลวง)อย่างยิ่งใหญ่ เป็นภาพที่น่าประทับใจแก่ผู้มาร่วมกิจกรรมเป็นอย่างยิ่ง

และในปีนี้ กว๊านพะเยาสายนํ้าแห่งชีวิต ตานข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวง โครงการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต)มหาวิทยาลัยพะเยา และ เทศบาลเมืองพะเยา ได้มีการประชุมหารือสรุปเห็นว่าควรขยายกิจกรรมนี้ไปสู่องค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความพร้อมการร่วมจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในระดับจังหวัดมากขึ้น จึงได้ภาคีเครือข่ายผู้ร่วมจัดกิจกรรมเพิ่มเติมอีก 4หน่วยงาน คือ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา สภาวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพะเยา และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพะเยาพร้อมกับ 20 ชุมชนรอบกว๊านพะเยา

สำหรับงานในปีนี้จัดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาแต่ความผูกพันและความรักในท้องถิ่นจะหลอมรวมคนในชุมชนเป็นปึกแผ่นต่อไป สำหรับผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมอย่าลืมปักหมุด “พะเยา” ไว้ในแผนการท่องเที่ยวนะครับ รับรองว่าเมืองนี้มีมนต์เสน่ห์มากล้นเช่นเดียวกับ “กว๊านพะเยา”ที่จะทำให้คุณหลงใหลอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560