สะพานแสง จากฟากฟ้า แสงสุดท้ายแห่งความรักและภักดี

12 ก.พ. 2560 | 05:00 น.
“เป็นชั่วขณะที่ท่านจะกลับมาใกล้เรามาปรากฏตัวอย่างช้าๆณ ผนังผืนนั้นของเรามาปลอบประโลมและเรียกขวัญให้กลับมาสู่เรามาบอกให้เราลุกขึ้นและก้าวไปข้างหน้าก้าวไปอย่างที่ท่านเคยทำให้ดู ยามที่ท่านต้องอยู่กลางแดดและยิ้มสู้เพื่อพวกเรา”

แสงแดดยามบ่ายเคลื่อนคล้อยลงมากระทบผนังสีแดงอิฐผนังที่มีคุณค่าทางจิตใจสูงสุดของชาวสถาปัตย์ มช. และผนังที่กำลังเป็นหนึ่งในศูนย์รวมความรักและภักดีของชาวไทยทั้งประเทศในนาทีสำคัญ เวลา 15.52 นาฬิกา เวลาที่ในหลวงของชาวไทยเสด็จสู่สวรรคาลัย สู่ฟากฟ้าโดยไม่ทรงกลับมานาทีสำคัญที่ อาจารย์หม่อน-ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมงานนำศาสตร์ทางสถาปัตย์สร้างงานประติมากรรม สร้างสะพานเชื่อมความรู้สึก รำลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่และหลอมรวมดวงใจของชาวไทยทุกคนไว้ด้วยกัน

จุดเริ่มต้นของการคิดงานประติมากรรมแสงก่อตัวขึ้นราววันที่ 15-16 ตุลาคม ช่วงเวลาที่อาจารย์หม่อนได้เห็นภาพวาดในหลวงซึ่งอาจารย์และนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มช. ที่ร่วมกันสรรค์สร้างขึ้นและคิดว่าในฐานะคนสถาปัตย์ควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อพระองค์ท่านได้บ้างเช่นกัน

“เราควรจะทำในทักษะที่เชี่ยวชาญ และทำดีที่สุดในทางของเรา”ผมเริ่มจากการพิจารณาศาสตร์ทางสถาปัตย์ เราเกี่ยวข้องกับเรื่องของระนาบ เรื่องการตกของแสงและเงา ร่วมกับการสร้างอารมณ์และบรรยากาศด้วยแสงพระอาทิตย์ จึงเกิดความคิดการใช้แสงเป็นเครื่องมือในการสร้างประติมากรรม คือนำแสงมาวาดภาพ ให้เกิดภาพเงา“ภาพในหลวง” แต่ด้วยความรู้สึกลึกๆ ว่าเราไม่ต้องการให้แสงพระอาทิตย์หยุดไว้เพียงแค่การใช้วิธีคิดทางสถาปัตย์ แต่ยังเป็นเนื้อหาหลักที่นำไปสู่แก่นความคิดของงานได้จริงๆ และแสงสุดท้ายที่เราเห็น และแสงที่เรารู้สึกเสียใจในวันนั้นคือวินาทีที่พระองค์ท่านจากไป ก็คือ เวลา 15.52 นาฬิกา เราจะใช้แสงเป็นสะพานพาสิ่งที่ที่อยู่บนฟ้าลงมาปรากฏบนพื้นโลก มาหาเราอีกครั้งหนึ่ง

“หากคิดว่าพระองค์ท่านจากไปแล้วและจากไปตลอดกาลความเศร้าโศกจะโจมตีเราไม่มีวันหยุด แต่หากเราคิดว่าพระองค์ท่านจากไปเพื่อกลับไปอยู่ ณ บ้านที่แท้จริงของท่านคือ “บนฟ้า” ความรู้สึกเปลี่ยนจากหยุดชะงักเป็นมีพลังในทันที”

งานสมองเริ่มโลดแล่นอีกครั้ง จากต้นแบบ “นาฬิกาแดด” สู่การศึกษาทิศทางตกกระทบของแสงอย่างจริงจัง การรวมตัวของอาจารย์หม่อน คณะอาจารย์ 4 ท่านนักศึกษาชั้นปีที่ 4 อีก 3 คน และศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์ มช. ในเช้าของวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559 คือการเริ่มทำให้แนวคิดก่อตัวเป็นผลงานขึ้นจริงๆ โมเดลชิ้นต่างถูกผลิตขึ้นภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ มากมายทั้งอุปสรรคเรื่องงบประมาณ การเลือกใช้วัสดุ ความยากของการทดลองโมเดลกับแสงแดด การปรับองศาของชิ้นส่วนต่างๆเพื่อรับแสงและตั้งฉากกับแสงพระอาทิตย์ในมุมที่พอเหมาะพอดี และภาพของในหลวงที่จะสื่อถึง “แสงที่ฉายจากฟากฟ้าแผ่เมตตามาสู่เราบนผืนแผ่นดิน” ได้ดีที่สุด

ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายจากโมเดลทดลองมากกว่า 6 ชิ้น เกิดเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ที่สุด ในวันที่ 24 มกราคม2560 ผลงานประติมากรรมซึ่งมีนํ้าหนักราว200 กิโลกรัม องค์ประกอบศิลป์เพื่อให้เกิดเงาแสงที่ติดตั้งด้วยระบบฟันเฟือง บนแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 4 เมตร มากกว่า 20 ชิ้น ค่อยๆเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ขึ้นไปบนกำแพงผนังก่ออิฐโชว์แนวชั้น 4 ตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการทดลองประดับบนพื้นผิวพร้อมรับแสงพระอาทิตย์ในเวลาสำคัญเป็นครั้งแรกก็ปรากฏสู่สายตาอย่างไร้ที่ติ

“งานของเราไม่เพียงแข่งกับเวลาที่ต้องการทำให้ใกล้กับวันที่ 13ตุลาคมที่สุด แต่ยังต้องแข่งกับแสงของพระอาทิตย์ที่ปรับองศาเปลี่ยนไปในแต่ละฤดูกาล”

วันนี้แม้งานประติมากรรมแสงสุดท้ายของอาจารย์หม่อนเสร็จสมบูรณ์ตามที่ตั้งใจแต่ความตั้งใจรังสรรค์ผลงานและสร้างนักศึกษาที่ดีเพื่อสังคมยังคงดำเนินต่อไปเช่นเดียวกับฟันเฟืองที่ยังคงหมุนให้ชิ้นส่วนต่างๆ รับแสงพระอาทิตย์ เกิดเป็นองค์ประกอบภาพที่สมบูรณ์และงดงามตลอดกาล

ตราบใดที่แสงพระอาทิตย์ยังฉายจากฟากฟ้า ความจงรักและภักดีต่อในหลวงยังคงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560