โอกาสทองลงทุนน้ำตาลในบราซิล ผู้ผลิต-ส่งออกอันดับ1ของโลก

12 ก.พ. 2560 | 12:00 น.
colum20-323501 บราซิล ประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้บวกกับจำนวนประชากรอันดับ 5 และขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก มูลค่า GDP กว่า 3.26ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 115.7 ล้านล้านบาท ด้วยความโดดเด่นทางด้านพื้นที่ทำให้บราซิลเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ และครองตำแหน่งผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ได้แก่ น้ำตาล ถั่วเหลือง เนื้อวัว อ้อย และกาแฟ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากบราซิลโดยเฉพาะพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช รวมทั้งสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม โดยในปี 2559ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้า 2 ประเภทนี้จากบราซิลกว่า 54,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับบราซิล ในปี 2558 ต่อเนื่องปี 2559 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 129,200 ล้านบาท

“น้ำตาล” สินค้าเกษตรที่โดดเด่นของบราซิล ประเทศที่มีวัฒนธรรมและความเชี่ยวชาญในการปลูกอ้อยเพื่อการเกษตรมาเป็นเวลาช้านาน ปัจจุบัน บราซิลผลิตน้ำตาลและส่งออกน้ำตาลได้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยเคยผลิตได้สูงสุดถึง 37 ล้านตันต่อปี และตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลให้ได้ถึง 48 ล้านตันในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของประเทศนับว่ามีศักยภาพในการผลิตสูงสุด ซึ่งผลผลิตน้ำตาลราว 50% ของประเทศนั้นมาจากรัฐเซาเปาลู

อย่างไรก็ดี ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมน้ำตาลของบราซิลประสบปัญหาราคาตกต่ำเพราะผลผลิตล้นตลาด ทำให้โรงงานผลิตน้ำตาลในบราซิลต้องปิดกิจการไปแล้วกว่า 47 แห่ง ทั้งยังประสบปัญหาในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร แต่ในปี 2558-2559 เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ผลิตน้ำตาลทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาภาวะภัยแล้งและฝนตกหนักสลับกัน รวมถึงพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของบราซิลซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกอ้อยก็ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกหนัก เกษตรกรจึงนำผลผลิตบางส่วนไปแปรรูปผลิตเป็น เอทานอลซึ่งมีราคาขายที่ดีกว่า ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงเหลือ 30.7 ล้านตันในปี 2559 เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 32 ล้านตัน กระทบต่อปริมาณน้ำตาลที่ถูกป้อนเข้าสู่ตลาดโลกไม่เพียงพอ

ด้วยเหตุที่อุตสาหกรรมน้ำตาลของบราซิลกำลังมีปัญหา ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลและเอทานอลเริ่มเสนอขายกิจการให้กับผู้ที่สนใจโดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างชาติ ขณะที่ตลาดโลกยังมีความต้องการบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูงขึ้นเฉลี่ย 5-6 ล้านตัน ทำให้กิจการน้ำตาลในบราซิลกำลังเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ในปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติหลายบริษัทให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการโรงงานน้ำตาลในบราซิล ทั้งบริษัทลงทุนและบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลและแปรรูปน้ำตาล อาทิ บริษัท Cevitalบริษัทเอกชนใหญ่ที่สุดของแอลจีเรียและมีโรงงานแปรรูปน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งบริษัท Fatima หนึ่งในกลุ่มบริษัทผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในปากีสถาน เพราะเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการที่อุตสาหกรรมน้ำตาลโลกจะมีกำลังการผลิตลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกสูงขึ้น เป็นแนวโน้มการแสวงหากำไรในระยะสั้นเป็นหลัก

mp20-3235-c สำหรับภาคเอกชนไทย ด้วยศักยภาพและจุดแข็งในสาขาธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตน้ำตาลซึ่งผู้ประกอบการภาคเอกชนของไทยถือว่ามีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในการผลิต ทั้งน้ำตาลดิบ น้ำตาลทราย และน้ำตาลทรายขาว โดยในปี 2558 และปี 2559 ผู้ประกอบการไทยส่งออกน้ำตาลติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกรองจากบราซิลและอินเดียเท่านั้น และยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในอาเซียนด้วยปริมาณการผลิตกว่า 10-11 ล้านตันต่อปี โดยส่งออกถึง 85% ของการผลิต หรือกว่า 8 ล้านตัน จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการคว้าโอกาสการลงทุนหรือการเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลท้องถิ่นของบราซิล และการเข้าซื้อกิจการโรงงานน้ำตาลในบราซิล เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการผลิตต่อไป

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.comหากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560