MAI ปั้นธุรกิจภูมิภาคเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

11 ก.พ. 2560 | 04:00 น.
ผู้จัดการตลาด MAI เผยเตรียมเดินสาย 4 จังหวัด ดันผู้ประกอบการภูมิภาคเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้ปีนี้มีเข้าตลาด MAI 2 บริษัทจากภาคเหนือ แจงโครงการจับมือ 5 หน่วยงานเตรียมพร้อมให้เอสเอ็มอีเข้าตลาดใน 3 ปี ด้าน Well-B เชื่อได้ประโยชน์ทั้งด้านเงินทุนและระบบบริหารจัดการที่ชัดเจน

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าปีนี้จะดำเนินโครงการค้นหาธุรกิจในภูมิภาคเพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยจะลงพื้นที่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา และอุบลราชธานี เนื่องจากมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมหลายบริษัท โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวก็เพื่อให้บริษัทในภูมิภาคได้มีโอกาสเข้ามาระดมทุน เพื่อขยายธุรกิจในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจในภูมิภาคมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีธุรกิจจากภูมิภาคที่เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งมีความพร้อมที่จะเข้าตลาดฯอยู่ประมาณ 10% จากจำนวนบริษัททั้งหมดที่กำลังจะขอเข้าตลาดฯ โดยในปีนี้จะมี 2 บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหารจากภาคเหนือที่กำลังจะเข้ามาจดทะเบียน

สำหรับปัญหาของเอสเอ็มอีนั้น จะเป็นเรื่องการตลาด โดยส่วนใหญ่จะมีสินค้าแล้วในระดับหนึ่ง แต่จะขายสินค้าอย่างไรให้มีผลกำไร รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการภายใน เช่น เรื่องบัญชี เป็นต้น และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะใช้หมุนเวียนในการทำธุรกิจ โดยเรื่องของเงินทุนจะเป็นส่วนที่ตลาดจะสนับสนุนได้ตรงจุดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ส่วนทางด้านของการตลาดก็จะมีการแนะนำพันธมิตร หรือช่องทางให้ได้

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีโครงการเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอีเพื่อเข้าสู่ตลาดลักทรัพย์ MAI ภายใต้ความร่วมมือของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.),ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.),สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.),กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดทำแผนเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ภายใน 3 ปี

"โครงการนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบไปด้วย 1.การอบรมให้กับเอสเอ็มอี 300 ราย 2.คัดเลือกให้เหลือ 40 รายเพื่อเข้าอบรมภาคทฤษฎีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นด้วยตนเอง และการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาด MAI (MAI Boost up Camp) และ3.คัดเลือกให้เหลือ 5 ราย เพื่อจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI ในระยะ 3 ปี และดำเนินการปรับปรุงระบบบัญชี รวมถึงโครงสร้างภายในของสถานประกอบการ (MAI Mentorship Program)"

อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทที่เหลืออีก 35 รายนั้น ก็จะมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการผลักดันเข้าสู่ตลาด MAI ต่อไป จากพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 6 ราย โดยการสนับสนุนให้มีการเติบโต ผู้ประกอบการใดที่มีความพร้อมก่อนก็จะได้เข้าระดมก่อน ตราบใดที่ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ แต่ 5 บริษัทภายใน 3 ปีนี้จะเป็นบริษัทที่มีความพร้อม เนื่องจากงบประมาณ และบุคลากรที่มีจำกัด จึงต้องมุ่งเน้นไปที่กิจการที่มีความพร้อมก่อน

นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจ ผลไม้อบแห้งแบรนด์Wel-B กล่าวว่า มีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยมองว่าการเข้าตลาดจะเป็นผลดีต่อบริษัท เนื่องจากบริษัทของตนทำธุรกิจเกี่ยวกับเกตษรแปรรูป เพราะฉะนั้นจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการซื้อวัตถุดิบแต่ละฤดูกาล ซึ่งเงินทุนจะเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ โดยบริษัทจะซื้อของจากเกษตรกรเป็นเงินสด แต่นำไปขายในรูปของเงินเครดิต ซึ่งหากสินค้าขายดีมากยิ่งจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก

"ผลประกอบการปีที่ผ่านมามีรายได้อยู่ประมาณ 120 ล้านบาท โดยเติบโตจากปี 2558 ประมาณ 20% ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 96 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าจะมีรายได้ประมาณ 150 ล้านบาทซึ่งสัดส่วนรายได้จะมากจากตลาดประเทศและต่างประเทศในปริมาณเท่ากันที่ 50%"

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า การทำตลาดในปีนี้จะมุ่งเน้นการเพิ่มยอดขายในแต่ละประเทศที่เราเข้าไปทำตลาดกว่า 30 ประเทศในปัจจุบัน โดยการเพิ่มสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด และการทำตลาดให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนตลาดในประเทศจะเพิ่มสินค้าที่เป็นพรีเมียม หรือเพิ่มไอเดียและนวัตกรรมช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยปัจจุบันบริษัทมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะทำให้เพิ่มขึ้นได้เป็น 20 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560