เมื่อธุรกิจรถทัวร์ปรับตัว รับคลื่นการเปลี่ยนแปลง

10 ก.พ. 2560 | 05:00 น.
บริบทสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อความเป็นไปของธุรกิจทุกๆประเภทรวมทั้งธุรกิจรถโดยสารรับอากาศหรือที่คนทั่วไปมักเรียกกันสั้นๆว่า”รถทัวร์” ปัจจุบันมีรถร่วมเอกชนและบขส.(บริษัทขนส่งจำกัด)ให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดกว่า7,000 คันใน 309 เส้นทางทั่วประเทศ(ข้อมูลบขส.ณ สิ้นปี 2557 (ตัวเลขไม่รวมรถโดยสารระหว่างจังหวัดและอำเภอที่เอกชนดำเนินกันเอง))

หลายปีที่ผ่านมาธุรกิจรถทัวร์เผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจโดยตรง อาทิ ระยะใกล้(ไม่เกิน 5 กิโลเมตร) ตลาดถูกแย่งชิงจากรถตู้ ส่วนระยะไกล ความเฟื่องฟูของโลว์คอสต์แอร์ไลน์เข้ามาทับพื้นที่ตลาดบางส่วน ตัวอย่างที่ยกมานั้นล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้ธุรกิจรถทัวร์ต้องปรับตัวเพื่อรักษาฐานตลาดของตัวเอง รูปธรรมหนึ่งที่เห็นชัดคือ การดีไซน์ห้องโดยสารใหม่ มีที่นั่งโดยสารสะดวกสบายเทียบเคียงกับเครื่องบินและเป็นจุดขายใหม่ที่ผู้ประกอบการนำมาเสนอกับผู้โดยสาร ส่วนระดับองค์กรผู้ประกอบการหากไม่เพิ่มขนาดก็ต่อยอดสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องออกไป

กับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทรถทัวร์รายใหญ่ 2 รายใหญ่ คือ นครชัยแอร์ และสมบัติทัวร์ ถึงการปรับตัวเพื่อรับมือกับ คลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ซัดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทนครชัยแอร์จำกัด(เอ็นซีเอ) ซึ่งอยู่ในตลาดมากว่า 30 ปี บอกว่าบริษัทปรับตัวต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว และเธอกล่าวว่าการขยายตัวของสายการบินราคาประหยัด(โลว์คอสต์แอร์ไลน์)ไม่กระทบกับธุรกิจรถทัวร์มากนัก โดยอธิบายราคาตั๋ว(เครื่องบิน)ที่ถูกกว่าค่าโดยสารของรถทัวร์ต่อเที่ยวใน1ลำมีจำนวนไม่มากนัก และส่วนตัวมองว่าตลาดระหว่างรถทัวร์กับโลว์คอสต์เป็นคนละตลาดกัน

อย่างไรก็ดีเครือวัลย์ยอมรับว่า การมาของโลว์คอสต์ คือปัจจัยกดดันให้ นครชัยแอร์มีการขยับตัวตลอด2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นการจัดเที่ยววิ่งให้เหมาะสมในเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกับโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ส่วนการประยุกต์ไอทีมาใช้กับธุรกิจนั้น นครชัยแอร์ ขายตั๋วออนไลน์มา 25 ปีแล้ว “เราเป็นเจ้าแรกเลย” เธอย้ำเช่นเดียวกับที่นั่งแคปซูลสำหรับรถเฟิสต์คลาสที่เราบุกเบิกมาก่อน และกล่าวถึงภาพรวมว่าธุรกิจรถทัวร์ไม่เฟื่องฟูเหมือนอดีตอีกแล้วแม้จำนวนผู้โดยสารปีที่ผ่านมา (2559)เติบโต10%เศษ เพิ่มขึ้นแต่รายได้เพิ่มขึ้นเพียง 1% แนวโน้มดงกล่าว นครชัยแอร์จึงต้องหาตัวแบบธุรกิจใหม่ๆเพื่อขับเคลื่อนองค์กรในอนาคตโดยปลายปี 2558 บริษัทแตกธุรกิจบริการแท็กซี่(บริษัทออลไทยแท็กซี่ฯ)และเตรียมขยายสู่ธุรกิจอื่นเพิ่มเติมในอนาคต

ปัจจุบัน บริษัท นครชัยแอร์ฯ มีรถให้บริการ 386 คัน ใน 37 เส้นทาง เดือนมีนาคมนี้จะเปิดเส้นทางที่ 38 โดยรถให้บริการแบ่งเป็นเฟิสต์ คลาส 54 คัน (/21 ที่นั่ง เทียบมาตรฐานขนส่งที่กำหนด24 ที่นั่ง) โกลด์คลาส273 คัน ซิลเวอร์คลาส 531 คัน และอีโคโนมี 6 คัน

ส่วนบริษัท สมบัติทัวร์ฯ ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอีกราย ทวี วงศ์พบิธกรรมการบริหาร กล่าวว่า กลยุทธ์ของสมบัติทัวร์คือการตลาด 360 องศาเพื่อสร้างบริการที่โดนใจและตอบโจทย์ผู้โดยสารให้ ตัวอย่างล่าสุดคือเปิดตัว”เวียงพิงค์บัส”รถทัวร์ซูเปอร์วีไอพี 20 ที่นั่ง(มาตรฐานขนส่ง/24ที่นั่ง)เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงราย ทวีกล่าวถึงแผนปีนี้ว่าจะเพิ่มรถให้บริการ 15% โดยจะเพิ่มรถซูเปอร์วีไอพีจากที่มีกว่า 1% มาเป็น 15%จากยอดรวม 310คัน ในปัจจุบัน เพื่อรองรับลูกค้า 5,000 คนต่อวัน ทั้งนี้แต่ละปี “สมบัติทัวร์” จะลงทุนปรับปรุงรถประมาณ 50 คันเพื่อทดแทนรถที่เสื่อมคุณภาพ โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

ทวี กล่าวว่ากำลังนำฟินเทค(เทคโนโลยีการเงิน)มาเพิ่มความเร็วในการจองตั๋วโดยสาร ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต นอกเหนือจากจองซื้อผ่านสาขา เซเว่นอีฟเลเว่นได้แล้วในปัจจุบัน

เขาบอกว่าเป้าหมายในฝันของสมบัติทัวร์คือการให้บริการอย่างไร้รอยต่อ โดยขยายความว่า มีรถแท็กซี่ หรือรถตู้,มอเตอร์ไซค์ ให้บริการลูกค้าหลังจากที่ลงจากสถานี ส่งต่อจนถึงจุดปลายหมายได้โดยได้เริ่มวางโครงข่ายโดยจับมือกับพันธมิตรบ้างแล้ว

การปรับตัวของผู้ประกอบรถทัวร์ 2 รายข้างต้นเหมือนกำลังพลิกโฉมธุรกิจรถทัวร์ ธุรกิจที่เคยมีภาพลักษณ์ความรุนแรงและไม่ปลอดภัย ไปสู่ธุรกิจที่มีความทันสมัย นำเทคโนโลยีมาปรับใช้และมุ่งแข่งขันการให้บริการ ซึ่งเป็นอีกปรากฎการณ์ที่ยืนยัน คำกล่าวที่ว่า หยุดนิ่งเท่ากับถอยหลังได้เป็นอย่างดี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560