เร่งติดอาวุธผู้นำ รับมือประเทศไทย 4.0

10 ก.พ. 2560 | 12:00 น.
บริษัท PwC ประเทศไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจ 20th CEO Survey: 20 years inside the mind of the CEO... What’s next? ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2560 จากการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,379 คนใน 79 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 7 ประเทศ รวมทั้ง ประเทศไทย หนึ่งในผลสำรวจระบุว่า ต่อไป ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) และหุ่นยนต์ (Robotics) จะเข้ามามีอิทธิพลกับการดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดยซีอีโอมากกว่าครึ่งเริ่มทำการศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรกลแล้ว ในขณะที่ซีอีโออีก 39% กำลังพิจารณาผลกระทบจากการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ต่อทักษะของแรงงานที่ต้องการในอนาคต โดยจะต้องเป็นทักษะที่เครื่องจักรกลไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เช่น ทักษะในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

MP32-3234-d จากผลสำรวจนั้น สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบ "ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0" ของรัฐบาล เพื่อพัฒนาและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่ "Value-Base Economy" หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ ก็คือนวัตกรรม ที่มนุษย์และเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี จะเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่หากเราไม่ต้องการพึ่งพาต่างชาติให้มาก ก็ต้องพัฒนาทัศนคติ และองค์ความรู้ของผู้นำ ให้เทียบเท่ากับเขา โดยเฉพาะผู้นำองค์กร ซึ่งล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดทำหลักสูตร "การปฏิรูปธุรกิจและสร้างเครือข่ายนวัตกรรม" (Business Revolution and Innovation Network : BRAIN) รุ่นที่ 1 ปี 2560 ด้วยเป้าหมาย เสริมสร้างวิสัยทัศน์และผลักดันให้ผู้นำองค์กร หรือผู้บริหารระดับสูง ทั้งเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ เกิดความสนใจ เข้าใจ นวัตกรรมและเทคโนโลยี และการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิตอล สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งต่างชาติ

MP32-3234-c "สุพันธุ์ มงคลสุธี" ประธานหลักสูตร BRAIN กล่าวว่า จากเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก และถูกใช้งานมากในทุกวันนี้ ความรู้และความเข้าใจเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับการนำมาใช้เพื่อสร้าง Innovation เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศแบบ Thailand 4.0 ผู้นำ ก็ต้องมีการปรับตัวและหาความรู้เพิ่มเติม ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ ขณะที่ผู้นำก็สามารถส่งต่อ และสื่อสารส่งต่อไปถึงทีมงานได้อย่างชัดเจน โดยหลักสูตรนี้ เน้นองค์ความรู้ใน 8 สายงานหลักๆ ได้แก่ Industry, IT, Financial, Economic, Energy, Logistic, Agro Base และ Health โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ

MP32-3234-b ความโดนเด่นของหลักสูตรนี้ นอกจากชูเรื่องนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้นำองค์กรต่างๆ 90 คนที่เข้าร่วมหลักสูตรแล้ว ยังไปศึกษาดูงานในบริษัทชั้นน้ำ อย่าง ไป่ตู้หัวเว่ยเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถ โดยใช้เวลาอบรมทั้งหมด 3 เดือนเต็ม จบหลักสูตรในวันที่ 1 เมษายน 2560

การสร้างองค์กร ให้สอดรับกับโมเดล Thailand 4.0 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเกิดขึ้นขององค์กรใหม่ๆ หรือผู้นำรุ่นใหม่เท่านั้น ผู้นำรุ่นเก่า แต่มีแนวความคิดใหม่ ไล่ทันเทคโนโลยี ก็สามารถก้าวไปพร้อมๆ กับ Thailand 4.0 ได้อย่างสบายๆ ซึ่งปัจจุบันมีโปรแกรมการพัฒนาผู้นำหลากหลาย ทั้งจากบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมแรงงาน และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายของการจัดทำโปรแกรมเหล่านี้ เกิดจากความต้องการเพิ่มและสร้างขีดความสามารถขององค์กรผ่านแผนการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำ นั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560