เตือนมะกันระวังบูมเมอแรงการค้า

10 ก.พ. 2560 | 14:00 น.
เม็กซิโกเป็นประเทศแรกที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯนำมาตรการกดดันมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่งเดินหน้าโครงการสร้างกำแพงกั้นแนวพรมแดนระหว่างสหรัฐฯและเม็กซิโก หรือการขู่จะตั้งกำแพงภาษี 20% จากสินค้าที่สหรัฐฯนำเข้าจากเม็กซิโกเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้สนับสนุนการสร้างกำแพง ที่สหรัฐฯอ้างว่าเพื่อป้องกันการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การก่ออาชญากรรม และสกัดกั้นเส้นทางค้ายาเสพติด แต่ผลข้างเคียงของมาตรการดังกล่าวอาจทำให้สหรัฐฯเองประสบปัญหา เข้าทำนองหยิกเล็บเจ็บเนื้อก็เป็นได้

เหตุผลส่วนหนึ่งของสมมุติฐานดังกล่าวมาจากระบบซัพพลายเชนที่มีความเกี่ยวพันแนบแน่นระหว่างสหรัฐฯและเม็กซิโก กล่าวคือ สินค้าที่เม็กซิโกส่งออกมายังตลาดสหรัฐอเมริกานั้น ราว 40% มีชิ้นส่วนหรือต้นกำเนิดสินค้ามาจากสหรัฐฯเอง การตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากเม็กซิโกจึงมีผลกระทบต่อแหล่งวัสดุขั้นต้นในสหรัฐฯ นั่นหมายถึงผลกระทบต่อแรงงานอเมริกันที่โดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศปกป้อง นอกจากนี้ เม็กซิโกยังเป็นตลาดใหญ่อันดับหนึ่งที่รับซื้อสินค้าส่งออกจาก 2 รัฐสำคัญของสหรัฐฯ คือรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส และเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 สำหรับสินค้าส่งออกจากรัฐอิลลินอยส์ ไอโอวา และเนบราสก้า ทั้งยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง อันดับต้นๆของสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์หลายสำนักชี้ว่า ถ้าหากเม็กซิโกนำมาตรการตอบโต้มาใช้ เช่น มาตรการจำกัดการเข้าตลาดของสินค้าสหรัฐฯ หลายมลรัฐที่กล่าวมาข้างต้นก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง หรือหากมีการตั้งกำแพงภาษีสินค้า รัฐที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรม หรือ Rust Belt ที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์ก็จะได้รับแรงกระทบ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯจะมีต้นทุนสูงขึ้น หากต้องนำเข้าอะไหล่หรือชิ้นส่วนประกอบมาจากโรงงานในเม็กซิโกโดยต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้นตามนโยบายของทรัมป์ และนั่นอาจทำให้เกิดการชะลอหรือลดการจ้างงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯเป็นผลพวงตามมา

ในแง่ของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ผลของกำแพงภาษีจะทำให้ต้องเผชิญกับราคาสินค้าในสูงขึ้น เช่น โทรทัศน์หรือเสื้อผ้าที่ผลิตและนำเข้าจากเม็กซิโกที่หาซื้อได้ตามห้างวอลมาร์ต จะไม่ใช่สินค้าราคาถูกอีกต่อไป นอกจากนี้ สินค้าเกษตรที่นำเข้าจากเม็กซิโก อาทิ อะโวคาโด จะมีราคาสูงขึ้นด้วย ผลกระทบเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้หากสงครามการค้าและมาตรการตอบโต้ถูกนำมาใช้ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าสหรัฐฯอาจกำลังประเมินสถานการณ์ผลได้-ผลเสียของนโยบายที่นำมาใช้ จึงลองทดสอบกับเม็กซิโกซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าจีนราว 10 เท่า เพราะหากผลีผลามนำมาตรการแข็งกร้าวมาใช้กับจีน ก็อาจเจอการตอกกลับที่สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจของสหรัฐฯได้อย่างใหญ่หลวง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560