อุตฯเครื่องจักรกลดิ้นนำเข้า หนีตายหลังโดนจีนถล่มตลาดดัมพ์ราคา50%

09 ก.พ. 2560 | 09:00 น.
จีนส่งเครื่องจักรสำเร็จรูปตีตลาดถูกกว่า 50% ทำผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีกระเจิง หลังรัฐเปิดช่องนำเข้าเสียภาษีอากร 0% ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนเสียภาษีอากรขาเข้า 5-25% ประธานกลุ่มเครื่องจักรกล ส.อ.ท.ผู้แนะเร่งปรับตัว

นายจำรัส พานเพียรศิลป์ กรรมการสมาคมเครื่องจักรกลไทย มีสมาชิกกว่า 300 รายทั่วประเทศ เกือบทั้งหมด เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล(ไม่รวมเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร)กำลังได้รับผลกระทบหนักมาต่อเนื่อง หลังจากที่ถูกเครื่องจักรกลสำเร็จรูปจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เข้ามาตีตลาดอย่างรุนแรงโดยไม่มีกำแพงภาษีอากรขาเข้า ตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีของอาเซียน(FTA)โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีนที่เข้ามาตีตลาดในราคาถูกกว่าผู้ผลิตไทยถึง 50%

"ยกตัวอย่างถ้าราคาเครื่องจักรที่ผลิตในประเทศอยู่ที่60,000บาทต่อเครื่อง ราคานำเข้าจากจีนจะอยู่ที่ 3 หมื่นบาทต่อเครื่อง ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันได้ หลายรายได้รับผลกระทบแล้ว และหันไปเป็นผู้นำเข้าแทน บางรายเริ่มนำเข้าบางส่วน ควบคู่กับผลิตเองด้วย คาดว่าอนาคตจะเลิกผลิตและหันไปนำเข้าเต็มตัว"

ทั้งนี้ต้นทุนในการผลิตเครื่องจักรในประเทศ ต้องแบกภาระสูงกว่าการนำเครื่องจักรสำเร็จรูปเข้ามาขายในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศจะต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน เช่น มอเตอร์ มาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเครื่องจักรโดยเสียภาษีอากรขาเข้าสูงถึง10% เช่นเดียวกับการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนนำเข้าจะต้องเสียภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) ที่แต่ละประเทศมีอัตราภาษีไม่เท่ากัน รวมถึงมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด)

"อยากฝากให้สื่อเป็นกระบอกเสียงผ่านไปถึงรัฐบาล ในเมื่อสินค้าสำเร็จรูปนำเข้ามาไม่เสียภาษี ก็อยากให้ภาครัฐคำนึงถึงผู้ผลิตในประเทศด้วย โดยการนำเข้าวัตถุดิบ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำมาผลิตเครื่องจักรในประเทศก็ควรมีเพดานภาษีเป็น0% ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้า ผู้ผลิตไทยจะได้แข่งขันได้ ซึ่งเรื่องนี้ก่อนหน้านั้นเคยร้องเรียนผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ไปแล้วแต่เรื่องก็เงียบไป ทั้งที่มูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมเครื่องจักรสูงถึง2 แสนล้านบาทต่อปี แต่ก็ยังไม่ได้รับการดูแล"

นายปกรณ์ วิสนานุศิษย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เฉพาะว่าเฉพาะที่เป็นสมาชิกอยู่ในส.อ.ท.มีจำนวน 120 ราย ยอมรับว่าการแข่งขันเป็นไปตามกระแสโลก ผู้ผลิตไทยก็ต้องปรับตัว หาช่องทางในการพัฒนา เพื่อยกระดับตัวเองให้แข่งขันได้ด้วยต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กซึ่งมีตั้งแต่กลุ่มเจาะ กลึง ปั๊มโลหะ เหล่านี้รวมทั่วประเทศแล้ว 5-6 หมื่นรายที่เป็นผู้ประกอบการ และส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี

ด้านนายไสว ชัยชนะกล ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มเครื่องจักรกลและโลหะการ ส.อ.ท. กล่าวว่าที่ผ่านมากลุ่มเครื่องจักรจะแบ่งเป็น2 กลุ่มคือ กลุ่มเครื่องจักรที่นำไปผลิตเครื่องจักรอีกที เช่น เครื่องกลึง และกลุ่มเครื่องจักรเพื่ออุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ ที่ปัจจุบันกลุ่มแรกแทบจะไม่มีใครผลิตแล้ว เพราะรับศึกการแข่งขันไม่ไหว หลังจากที่ภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรเหลือ 0% ขณะที่วัตถุดิบและชิ้นส่วนนำเข้าเสียภาษีตั้งแต่ 5-25% ยังไม่นับรวมภาษีเอดีเหล็กและเซฟการ์ดอีก ผู้ประกอบการบางส่วนก็ปรับตัวได้ แต่อีกจำนวนมากก็ต้องทำธุรกิจด้วยความยากลำบากเพราะสายป่านสั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560