ฟ้องถอนโฉนด BA กรมที่ดินส่งอัยการยื่นศาลถอนโฉนด‘ทับที่สาธารณะ’

08 ก.พ. 2560 | 14:00 น.
กรมที่ดินส่งอัยการฟ้องเพิกถอนโฉนดสนามบินสมุยทับที่สาธารณะ ธนารักษ์ชี้ชัดขอเช่าพื้นที่ต่อรันเวย์ตามมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือนฯขอตรวจหากตัดพื้นที่ออก

ฐานเศรษฐกิจได้รายงานข่าวประเด็นสนามบินสมุยของบริษัทบางกอกแอร์เวย์ส(BA)บางส่วนทับซ้อนที่สาธารณประโยชน์ รวมทั้งพื้นที่ปลายรันเวย์บางส่วน ซึ่งกรมธนารักษ์ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุและปล่อยเช่าให้กับบริษัท แต่เกิดกรณีที่ต้องพิสูจน์ว่ากรมฯขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ อย่างต่อเนื่อง

บริษัทได้รวบรวมที่ 51แปลงไปออกโฉนดกับกรมที่ดินและเกิดกรณีร้องเรียนโดยมีการตั้งกรรมการไต่สวนปรากฎว่าโฉนดพื้นที่สนามบินสมุยบางส่วน ทับที่สาธารณะจริง สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่มีมติจากการไต่สวนเจ้าหน้าที่ที่ดินกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ให้ลงโทษและเพิกถอนโฉนดดังกล่าว รวมระยะเวลาหลังจากกรมที่ดินตรวจสอบพบและป.ป.ช.ตรวจสอบซ้ำใช้เวลาถึง 13 ปี

 อัยการเพิกถอนโฉนด

ล่าสุดแหล่งข่าวระดับสูงจากกรมที่ดินเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมายกรมที่ดิน ได้ยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องร้องต่อศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินของบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เจ้าของสนามบินสมุย และสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในโฉนดเลขที่ 15267 ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีที่ดินบางส่วนออกทับคลองบางทด และมีบางส่วนทางทิศตะวันตกออกทับพรุสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ตามนัยมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2552

ที่ดินเต้นรายงานด่วนมท.

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายทรงวุฒิ สายแก้ว รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดินได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เรื่องหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเสนอข่าวกรณีสนามบินบางกอกแอร์เวย์โฉนด15267 ตำบลบ่อผุด ออกทับที่สาธารณะชี้แจงข้อเท็จจริง นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย

หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาสรุปสำคัญคือ จากโฉนดที่ดินหมายเลข 15267 เนื่อที่ 268 ไร่ ที่กรมที่ดินออกให้กับ บริษัทการบินกรุงเทพเมื่อปี 2547 กรมที่ดินมีคำสั่ง 3446/2547 ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการร้องเรียนถึงที่ดินดังกล่าว ทับที่สาธารณประโยชน์ และจากการตรวจสอบของคณะกรรมการ ได้ลงความเห็นว่าทับที่สาธารณะจริง

ต่อมา เมื่อปี 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการออกโฉนด และส่งรายงานให้อธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนโฉนด และดำเนินการทางวินัยและอาญาแก่เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายทวีป โอชารส (เสียชีวิต)เจ้าพนักงานที่ดินสาขาเกาะสมุย นายยุดหาด พัฒนสุรีย์ นายช่างรังวัด 6

ส่งผู้ตรวจลงพื้นที่

กรมที่ดินยังได้ส่งเรื่องให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีดำเนินการเพิ่มเพื่อตั้งกรรมการสอบสวนแต่ข้อเท็จจริงไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะพิจารณาให้เป็นข้อยุติได้

ทางกรมที่ดินพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้ พนักงานอัยการฟ้องร้องต่อคดีต่อศาลตามมติของ ป.ป.ช. และกรมที่ดินได้ให้ผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน ลงพื้นที่เพื่อเร่งรัดผลการดำเนินการแล้ว

 ชี้ชัดขอเช่าต่อรันเวย์

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์ทางสปริงนิวส์ทีวีดิจิทัลช่อง 19 ว่า ที่มาของที่ดินที่กรมธนารักษ์ให้เช่า เป็นไปได้ว่าตอนนั้นเอกชนขอเช่าพื้นที่ขยายปลายรันเวย์ เพื่อทำพื้นที่เขตความปลอดภัยทางการบิน บุคคลที่เกี่ยวข้องของจังหวัดเเละเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์จึงตรวจสอบให้เช่าตามคำขอ เนื่องจากขณะนั้นพบว่ามีการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ และยังไม่มีประเด็นเป็นที่ดินป่าพรุตามที่ สนช.พบ เพราะหากเป็นป่าพรุจริง ก็ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุได้

นอกจากนี้ตามรายงานของ กมธ.ยังพบว่าฝั่งทิศตะวันตกมีการขุดคลองขึ้นมาใหม่ ทำให้คลองเส้นเดิมเเคบลง เเนวคลองเปลี่ยนจากเดิม

 กพท.ขอเช็กความปลอดภัย

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า การจะเพิกถอนที่ราชพัสดุจำนวน 16 ไร่ ที่กรมธนารักษ์ให้ บริษัทการบินกรุงเทพ เช่า ซึ่งใช้เป็นเขตเซฟตี้โซน และเพิกถอนพื้นที่สาธารณะที่ออกโฉนดไม่ถูกต้อง เบื้องต้นต้องดูว่าพื้นที่ ที่โดนตัดออกไป ปลอดภัยสำหรับการขึ้นและลงเครื่องบินหรือไม่ แต่ถ้าไม่ปลอดภัยก็ไม่สามารถใช้ต่อไปได้ เพราะขึ้นอยู่กับอากาศยานที่ลง

“ในทางเทคนิคต้องลงไปตรวจสอบ เพราะลักษณะความยาวของรันเวย์ขึ้นอยู่กับขนาดเครื่องบินที่ลง ปัจจุบันเครื่องบินมี 2 ประเภท คือ เครื่องใบพัดและเครื่องเจ็ต และต้องเผื่อพื้นปลอดภัยไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินเช่น สภาพทัศนวิสัยไม่ดีหรือ ฝนตก เพราะระยะเบรกจะยาวขึ้น ถ้าไม่มีพื้นที่นี้เครื่องบินก็จะไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งขณะนี้ไม่ทราบว่าพื้นที่พิพาทมีขนาดเท่าไร แต่ถ้าโดนตัดออกไป แล้วไม่ปลอดภัยตามมาตรฐานการบิน สนามบินก็ไม่สามารถใช้ได้ และถ้าเกิดอุบัติเหตุประกันภัยก็ไม่จ่าย เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าเกิดมีการระงับใช้สนามบินจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง และธุรกิจการท่องเที่ยวจะเสียหาย”

 ค่าตั๋วแพงเพราะลงทุน

นายจุฬา ยังกล่าวถึง ข้อเรียกร้องให้ลดราคาค่าโดยสาร กรุงเทพฯ-สมุยของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งในปัจจุบันมีราคาที่สูงเมื่อเทียบกับสายการบินอื่น ๆ ที่ใช้ระยะทางเท่ากันว่า กรณีราคาค่าตั๋วของบางกอกแอร์เวย์ส ที่มีราคาสูงนั้นไม่ได้เกิดจากค่าโดยสาร แต่เป็นเพราะการลงทุนของสายการบินเองเพื่อหาจุดคุ้มทุน

ซึ่งขณะนี้ เพดานสูงสุดที่กำหนดไว้ของสำนักฯ คิดกิโลเมตรละ 13 บาท ประกอบไปด้วยค่าต้นทุน ค่าต้นทุนผันแปร เช่นน้ำมัน ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในสายการบินอื่นๆ แต่บางกอกแอร์เวย์สจะเพิ่มภาระของค่าก่อสร้างสนามบินรวมทั้งค่าบริหารจัดการอื่นๆ ที่สายการบินต้องรับผิดชอบ

ที่ผ่านมาเคยพิจารณาให้สร้างสนามบินแห่งที่ 2 แต่โครงการได้ระงับลง และถ้าปัจจุบันนี้จะต้องสร้าง ต้องดูว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และเกาะต่างๆโดยรอบจะรองรับผู้โดยสารได้มากเพียงใด เพราะหลายที่มีการสร้างขึ้นมาแต่ไม่มีเครื่องบินลง

 โยนทำอีไอเอเพิ่มเที่ยวบิน

ส่วนกรณีประชาชนในสมุยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดค้านการเพิ่มเที่ยวบินจาก 50 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 73 เที่ยวบินต่อวัน เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560