อาฟเตอร์มาร์เก็ตดิ้น ประดับยนต์หาโปรดักต์ใหม่ ยางไทย-จีนทำไฟต์ติ้งแบรนด์

07 ก.พ. 2560 | 07:00 น.
ตลาดทดแทนสินค้ายานยนต์ที่มูลค่าระดับหมื่นล้านบาทต่อปีพยายามดิ้นสู้จากภาวะเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ที่ซบเซา ทั้ง ล้ออัลลอยฟิล์มกรองแสง แบตเตอรี เครื่องเสียง ยางรถยนต์ ต่างพยายามปรับตัวด้วยการเพิ่มสินค้าแบรนด์ใหม่มาเสริมกลยุทธ์การขาย ,พัฒนาช่องทางการขาย รวมถึงขยับไปสู่การทำตลาดออนไลน์

ตลาดอาฟเตอร์มาร์เก็ตถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการแข่งขันกันดุเดือดไม่แพ้ธุรกิจขายรถยนต์ใหม่ยิ่งในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจซบ ปัจจัยลบรอบด้าน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวกันยกใหญ่

เช่นเดียวกับตลาดล้ออัลลอยด์ที่เคยคึกคักหรือขายกระฉูดในช่วงตลาดรถยนต์ทะลุ 1 ล้านคัน (ปี2555, 2556) แต่ในช่วง 3 ปีหลังก็ซึมตามยอดขายรถยนต์ที่ลดลง ขณะที่ผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่ “เลนโซ่”ยืนยันว่าสถานการณ์การขายยังดีอยู่ ต่างจากแบรนด์ล่างที่เป็นของก๊อบปี้

“ปีที่ผ่านมาเรายังทำยอดขายเติบโต 15% สวนทางกับภาพรวมตลาดที่ลดลง 5% ซึ่งต่างจากพวกแบรนด์ก๊อบปี้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า” สรรชัย บุญทวีกิจรองประธานกรรมการบริษัทเลนโซ่ วีล จำกัดกล่าวและว่า

เลนโซ่ทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์มา 5 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จมาก โดยเดินควบคู่ไปกับการออกอีเวนต์เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันรถยนต์รายการใหญ่ๆพร้อมเดินสายโรดโชว์ 4-6งานต่อเดือน ทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับตลาดฟิล์มกรองแสงที่ธุรกิจแปรผันสอดคล้องกับตลาดรถยนต์ โดยขายผ่านสองช่องทางหลักคือโชว์รูมและร้านค้าภายนอก ทั้งนี้ช่วงตลาดรถยนต์อยู่ในภาวะขาลง ผู้ประกอบการฟิล์มกรองแสงรายใหญ่ "ลามิน่า" พยายามปรับตัวหันไปจับสินค้าใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ทั้ง “เบรย์”ฟิล์มนิรภัยติดกระจกภายนอกจากสหรัฐอเมริกา "ทูเล่"อุปกรณ์บรรทุกสัมภาระและจับจักรยานจากสวีเดน และเครื่องเสียงติดรถยนต์ "โซนิค ดีไซน์"จากญี่ปุ่น รวมถึง"ไทรบอส" ผลิตภัณฑ์เคลือบปกป้องรถยนต์รถยนต์เรืออากาศยาน จากอังกฤษ

“เราพยายามเพิ่มโปรดักต์ที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละตัวสามารถส่งเสริมการขายซึ่งกันและกัน ที่สำคัญยังช่วยให้ภาพลักษณ์ของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น”

จันทร์นภา สายสมร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด กล่าว โดยบริษัทเน้นสื่อสารการตลาดถึงสินค้าที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ครบทุกความต้องการ พร้อมให้ความมั่นใจในแบรนด์และการบริการหลังการขายแก่ลูกค้า โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดขายเท่ากับปี 2559 คือ 760 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนฟิล์มกรองแสง 720 ล้านบาท และอื่นๆ 40 ล้านบาท

ด้านธุรกิจแบตเตอรี โดยผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแบรนด์ “ยีเอส" (GS) ที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งในตลาดทดแทนกว่า 40% ประเมินว่า ผู้ใช้รถในกรุงเทพจะนิยมแบตเตอรีแบบไม่ต้องเติมน้ำกลั่นมากขึ้น สอดคล้องกับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ และไม่มีเวลาดูแลรักษารถ “ตลาดแบตเตอรี่แบบทดแทนมีมูลค่ากว่า1หมื่นล้านบาท โดยการแข่งขันยังคงดุเดือดเนื่องจากมีผู้เล่นหลายแบรนด์ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยน ยกตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพ มากกว่า 50 %ของผู้ที่ใช้รถยนต์นั่ง มีการเลือกแบตเตอรี่แบบไม่ต้องเติมน้ำกลั่น (เมนเทแนนซ์ ฟรี)มากกว่าแบบเติมน้ำกลั่น" วรนินทร์ อัษฎามงคล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามยีเอส เซลล์จำกัด กล่าวและว่า

ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดปีนี้ มุ่งพัฒนาพันธมิตรคู่ค้ารายใหญ่ที่มีกว่า 150-160 รายให้เข้าร่วมโครงการ “ซิงเกิ้ลแบรนด์” ซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 30 ราย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 80 ราย ส่วนคู่ค้ารายย่อยจะมีทีมดูแลพิเศษ ซึ่งมีมากกว่า 100 รายในปัจจุบัน ปีนี้บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตเกิน 7% ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มกว่า 5% และคาดว่าภายใน2ปีข้างหน้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า50%ของตลาดแบตเตอรีทดแทน

ด้านค่ายยางแบรนด์ไทยในช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มมีการขยับหาพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง เริ่มตั้งแต่ “เคซี.วีล แอนด์ ไทร์” ที่เตรียมจับมือผู้ผลิตยางรถยนต์จีน จากเมืองซานตง เพื่อตั้งโรงงานในไทยผลิตยางรถยนต์ในกลุ่มเอสยูวีและพีพีวี

MP37-3233-a “แบรนด์ยางรถยนต์ใหม่จะมีการจับมือกัน 3 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการจากไทย 2 ราย และจีนอีก 1 ราย เบื้องต้นจะใช้งบลงทุน1,000 – 1,500 ล้านบาท ส่วนชื่อที่จะใช้ทำตลาดยังไม่มีการเปิดเผย แต่เราวางแผนที่จะผลิตเพื่อ ส่งออก 70% และในประเทศ 30% ซึ่งขณะนี้ความคืบหน้าอยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อขอสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆจากนัฐบาล” นายพิชาญ พรหมเมฆประธาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซี. วีล แอนด์ ไทร์ จำกัด เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ เคซี.วีล ได้รีแบรนดิ้งเป็น เคซี.ออโตโมทีฟ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด โดยจะเพิ่มไลน์อัพสินค้าแบบครบวงจรในกลุ่มออโต้พาร์ท เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมจะจับมือกับสยามกลการอะไหล่ และในเดือนมิถุนายนจะจับมือกับพาร์ทเนอร์จากเยอรมนี ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ อาทิ ลิฟท์สำหรับยกรถ ,เครื่องตั้งศูนย์ถ่วงล้อ

“การแข่งขันทางธุรกิจที่มีคู่แข่งมากมาย ทำให้เราต้องปรับตัว ซึ่งแนวทางที่เรามองคือความครอบคลุมด้านออโตโมทีฟ เนื่องจากมีช่องวางทางการตลาดที่จะเจาะเข้าไป ประกอบกับเรามีฐานลูกค้าที่ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว ดังนั้นการขยายฐานลูกค้าก็จะทำได้ง่ายขึ้น” นายพิชาญ กล่าว

ขณะที่แบรนด์ "เอ็น.ดี.รับเบอร์" ที่มีชื่อเสียงในตลาดยางรถจักรยานยนต์ เตรียมกระโดดมาสู่การผลิตยางรถยนต์ โดยเตรียมจับมือพันธมิตรจากจีนเช่นกัน ซึ่งความคืบหน้าอยู่ในระหว่างการพูดคุยและเจรจา แต่เตรียมผลิตทั้งยางรถยนต์นั่งและยางรถบรรทุก

ในกลุ่มเครื่องเสียงติดตั้งในรถยนต์ อย่าง “มิราจ คาร์ออดิโอ” มีการปรับทัพจากเดิมที่เน้นขายและติดตั้งอุปกรณ์เครื่องเสียงติดรถยนต์เป็นหลัก โดยหันมาจับ มัลติมีเดีย โชลูชั่น ที่ครบวงจรมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีสินค้าและบริการครบวงจร อาทิ เครื่องเสียงจากแบรนด์ดัง Mercury, Performance, Kenwood, JVC, Pioneer, Alpine และสินค้าใหม่จากเยอรมนีที่จะเปิดตัวเร็วๆนี้เพื่อเจาะกลุ่มไฮ-เอนด์ นอกจากนั้นแล้วยังมีสินค้าอื่นๆจำหน่ายอีก อาทิ ระบบจอทีวี ,ระบบทีวีดิจิตอล ,กล้องติดรถยนต์, ระบบกันขโมย และฟิล์มกรองแสง

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ดังนั้นผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวให้ทันตามความต้องการ จากเดิมที่ขายเฉพาะเครื่องเสียง ตอนนี้ก็ต้องมีสินค้าให้ครบวงจรมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นการปรับปรุงหน้าร้าน-การบริการก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่สำคัญ เพราะรูปแบบร้านที่ทันสมัยย่อมดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการ” นายรวีโรจน์ องค์ศิริวัฒนา ประธานกรรมการบริหารบริษัท มิราจ คาร์ออดิโอ จำกัด กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560