เน็ตหมู่บ้าน วาระแห่งชาติ ‘ทีโอที’

07 ก.พ. 2560 | 05:00 น.
ต้องบอกว่า โครงการยกระดับ โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (หรือ อินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน) จำนวน 2.47 หมื่นหมู่บ้าน มูลค่าโครงการ 1.3 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญ ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบหมายให้ ทีโอที เป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้!

 ความคืบหน้า

ทีโอที ได้จำหน่ายซองการจัดซื้ออุปกรณ์รองรับโครงการยกระดับ โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเลื่อนจำหน่ายออกไปถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จากเดิมที่กำหนดยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา

เหตุผลที่ต้องเลื่อนการจำหน่ายซองประกวดราคาออกไป เนื่องจากว่าระบบมีเหตุเหตุขัดข้องจากการลงประกาศครั้งแรกแต่ปรากฏว่าไม่ได้บอกรายละเอียดในเรื่องเงื่อนไข และ คุณสมบัติจึงได้ปรับปรุงแก้ไขให้ครบถ้วนถูกต้องตามกระบวนการทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้โปร่งใส เพราะ ทีโอที ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อร่วมมือป้องกัน และต่อต้านการทุจริตในการดำเนินโครงการ เนื่องจากมูลค่าโครงการสูงถึง 1.3 หมื่นล้านบาท

 กี่รายที่สนใจ

ตอนนี้มีเอกชนเข้ามาซื้อซองประกวดราคาไปแล้วจำนวน 10 ราย โครงการนี้ ทีโอที จะทำหน้าที่เบิกจ่ายงบประมาณแทนกระทรวงดีอี ทำหน้าที่เป็นเสมือน SI (Systems Integrator)

โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติของ ทีโอที เนื่องจากได้วางตำแหน่งเป็นองค์กรของรัฐขยายความเจริญไปยังภูมิภาค และ เป็น ช็อต พิสูจน์ของ ทีโอที ขยายโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน เพราะในอดีตเคยทำโทรศัพท์ทางไกลชนบท หากไปถาม รัฐบาลตั้งแต่นายก และ รองนายก ทุกท่านมองเหมือนกันเลยว่าทุกอย่างเป็นดิจิตอลอีโคโนมี เพียงแต่รอโครงสร้างพื้นฐานสิ่งนี้ เพราะเปิดโอกาสให้คนพื้นที่ห่างไกลมีช้างเผือกเกิดในป่า

 มีนโยบายต่อต้านทุจริต

ได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ศปท. ทีโอที) โดย นายเชาว์ พันธ์รุ่งจิตติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาองค์กรในฐานะ ผอ.ศปท. เป็นผู้รับผิดชอบและตรวจสอบในเรื่องนี้

ส่วนเรื่องสินบนสินบนข้ามชาติ “เจเนอรัลเคเบิล” ออกมาเปิดเผยการจ่ายเงินสินบนในไทย มูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้ได้สิทธิในการจำหน่ายสินค้าให้แก่ กฟภ. กฟน. และ ทีโอที ได้มอบหมายให้ทาง ศปท.ทำหน้าที่รับผิดชอบ ได้เซ็นคำสั่งไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และ แสวงหาข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงมี 2 แบบ คือ เอกสารหลักฐาน และ แสวงหาข้อเท็จจริงได้จากตัวบุคคล ทำทั้งในและนอกองค์กร ให้เวลา 15 วัน

 รอยต่อนั่งรักษาการ

อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ 2554-2556 ได้นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในปี 2555 และ ผม ได้อยู่ในเหตุเการณ์ และ ได้รับรายงานว่าซื้ออุปกรณ์จาก บริษัท เฟ้ลปส์ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 3 สัญญา จัดหาเคเบิ้ลทั้งหมด 162 สัญญา ใน 162 สัญญา แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ซื้อจากเฟ้ลปส์ดอด์ตจ จำนวน 3 สัญญา มูลค่า 80 ล้านบาท และในปี 2557-2558 จำนวน 5 สัญญา มูลค่าไม่ถึง 80 ล้านบาท เพราะฉะนั้นดูสัญญาที่ซื้ออุปกรณ์ทั้ง 162 สัญญา โดยซื้อผ่านจากตัวแทน เฟ้ลปส์ดอด์ตจ จำนวน 5 สัญญา สัญญาใหญ่สุดวงเงิน 70 ล้านบาทเกิดขึ้นในปี 2554 ตามข้อมูลที่เป็นข่าวจ่ายถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา นั้นไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ต้องให้ทีมงานตรวจสอบสัญญาทั้งหมด

ยุคนี้คอร์รัปชันน้อยลง

เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA( Integrity and Transparency Assessment) ของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภายในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่ง ทีโอที ได้เข้าร่วมโครงการและถูกประเมินในปี 2557 จากคะแนน 100 ได้คะแนน 60 ,ในปี 2558 ถูกประเมินได้ 80 คะแนน และ ปี 2559 ได้ถึง 90 คะแนน ช่วงระหว่าง 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องคอรัปชั่นใน ทีโอที น้อยลงเยอะมากและเห็นชัดเจนในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ยกตัวเยอ่างเช่น การเช่ารถจำนวน 3,000 คันตั้งงบประมาณที่ 2,500 ล้านบาท แต่ผลที่ออกมาเช่ารถได้ในราคา 1,300 ล้านบาท แม้แต่ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ายังบอกว่า ทีโอที ซื้อสินค้าในราคาใกล้เคียงกับเอกชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560