เชื่อม‘Comgateway’ ดันเอสเอ็มอีไทยโยงเครือข่ายโลกกว่าล้านราย

05 ก.พ. 2560 | 08:00 น.
คงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ถึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ส่วนหนึ่งก็มาจากที่เอสเอ็มอีในประเทศไทยมีสัดส่วนมากถึง 80-90% เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการทั้งหมด จึงต้องเร่งยกระดับให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพสูงขึ้นและสามารถยกฐานะให้สินค้าที่ผลิตไปสู่ตลาดส่งออกได้มากขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานร่วมคณะทำงานส่งเสริม SMEs & Start up และSocial Enterprise ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงการทำงานที่ล้อไปกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยกล่าวถึงแผนงานสนับสนุนปี 2560 ว่า จะทำเรื่องที่สอดคล้องกับรัฐบาล โดยมองในเรื่องการทำอี-คอมเมิร์ซ ให้สอดรับกับการก้าวไปอุตสาหกรรม 4.0

ดึง Comgateway เชื่อมไทย
ล่าสุดกำลังทาบทามกลุ่ม Comgatewayบริษัทอี-คอมเมิร์ซ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเวิร์ดคลาสจากสิงคโปร์เข้ามาสนับสนุนเชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีในประเทศไทย โดยกลุ่มนี้จะมีระบบสนับสนุนโลจิสติกส์ที่แข็งแรงและมีลูกค้าด้านระบบชำระเงินหรืออี-เพย์เมนต์(e-Payment)โดยลูกค้าพร้อมซื้อสินค้าเอสเอ็มอี มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกกว่า 1 ล้านราย จากที่ก่อนหน้านั้นรัฐบาลร่วมกับอาลีบาบาไปแล้ว แต่กลุ่มนี้จะมาทางด้านระบบชำระเงินหรืออี-เพย์เมนต์ต่างจากอาลีบาบาที่เติบโตมาทางด้านตลาด การขายของ แต่รายนี้เติบโตมาจากอี-เพย์เมนต์ โดยจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หอการค้าไทย และสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิตหรือ SMI นำโปรดักต์เอสเอ็มอีเชื่อมต่อเข้าไปในเครือข่ายของ Comgateway

โดยความร่วมมือดังกล่าวในเบื้องต้นมีเงื่อนไขว่า Comgateway จะไม่คิดค่าบริการ แต่จะได้ค่าโลจิสติกส์ และเอสเอ็มอีได้ใช้บริการโลจิสติกส์จากบริษัทที่มีชื่อเสียง รวมถึงได้เครือข่ายการซื้อสินค้าเอสเอ็มอีกว้างขึ้น คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้ จะพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อสำเร็จเอสเอ็มอีทั้งหมดจะสามารถใช้บริการนี้ได้ โดยจะจับมือกับส.อ.ท.ในการให้ข้อมูล

 จับมือมทร.ลุยบ่มเพาะ

นอกจากนี้ภายในปี2560 จะให้น้ำหนักในเรื่องศูนย์บ่มเพาะด้านเทคโนโลยีโดยเพิ่มประสิทธิภาพเอสเอ็มอีมากขึ้น จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น มทร. อีสาน(มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) ซึ่งมีสถาบันชุนหวัน ก็จะทำศูนย์บ่มเพาะให้กับเอสเอ็มอีภาคอีสาน โดยจะเข้าไปเน้นเรื่องของอาหาร จากความสำเร็จของส.อ.ท.ที่ทำ เรื่อง "นอร์ธเทิร์นฟู้ดวัลเลย์ "สำเร็จแล้ว ก็จะทำเรื่องของ"นอร์ทอีส ฟู้ดวัลเลย์ "ในภาคอีสาน โดยจะมีเครื่องมือและการเชื่อมโยงเรื่องมาตรฐานให้กับภาคอุตสาหกรรมในเรื่องอาหาร โดย 4 วิทยาเขตนี้จะเป็นผู้ขับเคลื่อนโดยมีสกลนคร โคราช ขอนแก่น สุรินทร์ อีกด้านจะเชื่อมกับทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะทำศูนย์บ่มเพาะทางด้านไฮเทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้จะมีสถาบันการเงินเข้ามามีส่วนร่วมด้วย รวมทั้งบริษัทไอที มาร่วมเชื่อมโยงเป็นศูนย์บ่มเพาะให้กับการส่งเสริมเอสเอ็มอีทางด้านเทคโนโลยี ตรงนี้จะได้เห็นจะได้เห็น “นอร์ธอีสต์ ฟูดวัลย์” ในภาคอีสานภายใน 3 ปี

ส่วนสาเหตุที่เลือกอีสานเป็นโมเดลนำร่องเพราะ1.อีสานมีจำนวนประชากรมาก 2.มีวัตถุดิบด้านเกษตรรองรับ 3.มีเขตเชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยโมเดลนี้ถ้าสำเร็จสามารถใช้ได้ทั่วประเทศกับทุกภาค

  มองภาพรวมปี 60

สำหรับภาพรวมเอสเอ็มอีปี 2560 น่าจะดีขึ้นโดยประเมินจาก 1. สินค้าเกษตรหลายตัวมีแนวโน้มราคาดีขึ้น 2.งบประมาณภาครัฐเริ่มกระจายตัวลงพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะงบกว่า 1 แสนล้านบาท ที่ไปโฟกัสที่คลัสเตอร์จังหวัด โดยให้คลัสเตอร์ละ 5,000 ล้านบาท จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ เป็นงบของรัฐบาลที่ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม

โดยมีคณะทำงานขึ้นมาโดยให้ส.อ.ท.และหอการค้าจังหวัดอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

3.มีงบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน

 มารู้จักบริการ Comgateway

บริการ comGatewayเป็นบริการจัดหาที่อยู่ สำหรับการจัดส่งสินค้า ในประเทศ สหรัฐอเมริกา ฟรี เมื่อสินค้าที่สั่งซื้อ มาถึงที่อยู่ในอเมริกา ทาง comGatewayก็จะจัดส่งสินค้า ข้ามประเทศ ตรงมายังที่บ้าน ซึ่งบริการแบบนี้ ทำให้หมดปัญหา ร้านค้าออนไลน์ที่ สหรัฐอเมริกา ไม่มีบริการการจัดส่งมาถึงไทย คนไทยก็สามารถช้อปสินค้าจาก สหรัฐอเมริกา ได้แบบไม่มีขีดจำกัดแล้ว

นอกจากนี้ยังมีบริการชำระเงิน Buy For Me สำหรับร้านค้าที่ไม่รับบัตรเครดิต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560