ปรองดองเกิดยาก ‘อภิสิทธิ์’แนะรัฐแก้รากเหง้าขัดแย้ง-เปิดใจกว้างรับฟัง

05 ก.พ. 2560 | 01:30 น.
หัวหน้า ปชป.ชี้รากเหง้าความขัดแย้ง เกิดจากความคิด-รู้สึกไม่เป็นธรรม สื่อยุคดิจิตอลสร้างขัดแย้ง แนะ ป.ย.ป.สกัดประเด็นใหม่ขยายผล รับปรองดองยาก แต่คงดีขึ้นถ้าแก้ถูกทาง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีรัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อสร้างความปรองดองขึ้นมา โดยชี้ให้เห็นสภาพปัญหาความขัดแย้งในอดีตว่า มาจากปัญหาความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน การพูดคุยที่นำไปสู่ความขัดแย้งผ่านสื่อยุคดิจิตอลทุกรูปแบบ ตลอดจนความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม

เมื่อทราบรากเหง้าปัญหาแล้ว ปัจจัยที่จะนำไปสู่การปรองดองนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี ชี้ว่า สิ่งแรกต้องเอาเป้าหมายและความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง เพราะสิ่งที่สังคมสะท้อนมาคือไม่อยากเห็นความวุ่นวายในบ้านเมือง และควรทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งเกิดขึ้น

สิ่งแรกที่ควรทำคือ การจัดระเบียบกระบวนการปรองดอง เมื่อรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจว่า คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ต้องเกิดขึ้น และมี 4 ชุด ที่จะมาทำเรื่องนี้ ควรให้องคาพยพต่างๆทำเรื่องนี้ ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตลอดจนองค์กรต่างๆ สรุปแนวคิดต่างๆ ส่งให้ ป.ย.ป.เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงาน ไม่ให้เกิดการขยายประเด็นความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก อาทิ กรณีที่ สนช. และ สปท.นำเสนอความคิดโดยหยิบยกกกรณีคำสั่ง 66/23 มาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ทำให้มีความเห็นทั้งเหมือนกันและต่างกันมากมาย แทนที่จะปรองดองกลายเป็นประเด็นขัดแย้งขึ้นมาใหม่

นอกจากนั้น หากมีหลายเจ้าภาพ จะทำให้บุคคลใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเอาเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มตนมาต่อรองกับคณะทำงานชุดใดชุดหนึ่งเพื่อให้ทำตามความต้องการของตน ถ้าเป็นอย่างนี้แก้ปัญหา 5-6 ปีก็ไม่จบสิ้น ดังนั้นถ้า ป.ย.ป.เป็นเจ้าภาพเดียว ที่เหลือรีบสรุปส่งงานให้ วิธีนี้จะง่าย และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

“หากนายกฯ ยืนยันว่า ปรองดองต้องยึดกฎหมาย การปรองดองไม่ใช่เรื่องนิรโทษกรรม ถ้าเป็นอย่างนี้ผมเห็นด้วยเต็มที่ และถ้าไม่มีประเด็นเรื่องผลประโยชน์อื่นมาเกี่ยวข้อง ผมยินดีให้ความเห็นกับ ป.ย.ป.เต็มที่ ”

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ให้เห็นอีกว่า ที่ผ่านมาการปรองดองมองข้ามหลายเรื่อง เรื่องแรกคือ ความขัดแย้งทางความคิด ในสังคมทุกยุคเป็นไปได้ยากที่จะให้คนคิดเหมือนกัน แต่ความขัดแย้งที่มันกลายเป็นความรุนแรง กลายเป็นปัญหาให้ประเทศเดินไม่ได้ ซึ่งกลไกที่จะไปสู่ปัญหา อาทิ ก่อนหน้านี้มีการพูดคุยที่นำไปสู่ความความเกลียดชัง ยุคนี้พูดเรื่องการเอาข้อมูลเท็จมาเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เช่น วิทยุชุมชนที่ปลุกกระดม โทรทัศน์ดาวเทียม และปัจจุบันเป็นโซเชียลมีเดีย ซึ่งวิธีการป้องกันแก้ไขใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ผล แต่อาจทำให้เกิดปัญหาซ้ำเติมเข้ามาอีก เห็นได้จาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

2. ตัวสาระต้องเอาภาพรวมทั้งหมดของปัญหา ถ้าเริ่มวิเคราะห์ว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างคนกับคน กลุ่มกับกลุ่ม วันข้างหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก การเอาแกนนำคนทุกสีมาคุยกัน ก็เป็นการตั้งโจทย์ที่ดี แต่ถ้ามองว่าเป็นความขัดแย้งของพรรคการเมือง หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นั้น ไม่ใช่ ต้องเอาสาระของความขัดแย้งว่า การเคลื่อนไหวของทุกฝ่ายมาจากอะไร มาจากความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง การทุจริต การใช้อำนาจไม่ชอบ การใช้วิธีทางการเมืองไม่ชอบธรรม ต้องเอาตรงนี้มาเป็นตัวตั้งแล้วเอาทุกฝ่ายมาทำความเข้าใจว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดเงื่อนไขดังกล่าว

ส่วนการแสวงหาความปรองดองครั้งใหม่นี้ จะสำเร็จในรัฐบาล คสช.หรือไม่นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฟันธงว่า อาจจะยาก แต่คงจะมีอะไรที่ดีขึ้น ถ้ารัฐบาล และคสช.เปิดใจกว้าง

“คสช.ต้องถอยออกมานิดหนึ่ง จากที่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร หรือไม่เจตนาขัดแย้งกับโคร แต่โดยสภาพทางการเมืองปฏิเสธไม่ได้ ถ้ารับฟังให้มาก ขอเวลา 2-3 เดือน มันอาจตกผลึกอะไรบางอย่าง อย่ารีบเสนอ ถ้ารีบเสนอจะมีคนรีบค้าน ต้องให้เห็นว่าแสดงความเห็นทุกฝ่าย เชื่อว่าทุกฝ่ายมีทั้งถูกและผิด ต้องยอมรับตรงนี้ เช่น ถ้าผมคิดว่าผมทำถูก แต่ในสายตาของคนส่วนหนึ่งบอกว่าผิด ถ้าผมไม่ยอมรับตรงนี้คงยาก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560