ตอกยํ้าความสำเร็จภาคการศึกษา‘มทร.ธัญบุรี’ เปิดบ้านครบรอบ 42ปี นำเสนองานวิจัยนวัตกรรมสร้างสรรค์รับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

04 ก.พ. 2560 | 02:00 น.
มทร.ธัญบุรี ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปี มทร.ธัญบุรี ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมุ่งเน้นการสร้าง “บัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ”หลักสูตรการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล จึงได้จัดงาน นวัตกรรมสร้างสรรค์ RT’60 ขึ้นเพื่อนำเสนองานวิจัยนวัตกรรมสร้างสรรค์รับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมเปิดบ้านโชว์ศักยภาพบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนสำหรับการเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

TP31-3233-3 สำหรับบรรยากาศภายในงานได้มีการจัดแสดงผลงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ของอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น ต้นแบบปลั๊กล้ำสมัยสำหรับบ้านอัจฉริยะ การพัฒนาต้นแบบการผลิตแผ่นเจลมาสก์หน้าตำรับสมุนไพรไทยในระดับอุตสาหกรรม การพัฒนาต้นแบบเครื่องปลูกเมล็ดธัญพืช รวมถึงงานวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวทีโลก เช่น ผลของการใช้ต้นอ่อนข้าวหอมมะลิและทดแทนความหวานต่อคุณภาพของไอศกรีม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ลดการเกิดเชื้อราและยืดอายุของมะม่วงและมะละกอจากวัสดุเหลือทิ้งในภาคการเกษตร การพัฒนาอุปกรณ์การถักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานถัก และการจัดแสดงการบริการวิชาการแก่สังคม

TP31-3233-2 โดยภาพตัวอย่างของผลงานในการจัดงานครั้งนี้ น้อง “ดา” ณัฐสุดา บุญธรรม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ เล่าถึงความประทับใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า การจัดแสดงผลงาน “การใช้ต้นอ่อนข้าวหอมมะลิและทดแทนความหวานต่อคุณภาพของไอศกรีม”

TP31-3233-4 ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง ในงานThe 65th World Exhibition on Inventions, Research and New Technologies (Brussels Innova 2016) จัดขึ้นที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียมนั้น ทำให้ตนได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงเกี่ยวกับผลงานดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาไอศกรีมและเครื่องดื่ม เพื่อนำไปประกอบอาชีพในการทำงานต่อไปในอนาคต เพราะอาหารและเครื่องดื่มเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แต่เราจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้วัตถุดิบ พัฒนาสูตรและต้องใส่ความเป็นเทคโนโลยีลงไป เช่น การผลิต การบรรจุและการเก็บรักษาอาหารต่างๆ
ไม่เพียงเท่านั้น น้อง “ซีอิ๊ว” เอกณัฏฐ์ ลาภสัมพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสุขภาพและความงาม เล่าถึงชิ้นงานสุดภาคภูมิใจของตนว่า ผลงานการพัฒนาต้นแบบการผลิตแผ่นเจลมาสก์หน้าตำรับสมุนไพรไทยในระดับอุตสาหกรรม ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในงาน Brussels Innova 2016 เช่นเดียวกัน

TP31-3233-5 ซึ่งตนมีส่วนร่วมในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยและได้นำผลงานมาจัดแสดงในครั้งนี้ ซึ่งมีกระแสตอบรับจากผู้เข้าร่วมชมงานให้ความสนใจเป็นอย่างดี ปัจจุบันได้ต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์ โดยตัวเองรู้สึกดีใจที่ได้เห็นสมุนไพรไทยได้รับการยอมรับที่ดีและมองว่าด้วยความหลากหลายของพืชสมุนไพรไทย สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามได้อีกมากมาย

TP31-3233-6 ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคือเมล็ดพันธุ์ที่ล้ำค่าของการพัฒนาในอนาคตจากเยาวชนไทย ซึ่งทาง มทร.ธัญบุรี พร้อมเป็นส่วนเติมเต็มในการบ่มเพาะความสำเร็จของประเทศชาติในอนาคตต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560