ทวี วงศ์บพิธ'ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน'

04 ก.พ. 2560 | 02:00 น.
ด้วยรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ธุรกิจเดินรถทัวร์ต่างต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่ "สมบัติทัวร์" ซึ่งเข้ามาให้บริการขนส่งผู้โดยสาร มาตั้งแต่ปี 2485 ในชื่อเดิมว่า "เต็กเชียง " เป็นรถ 2 ประตู 20 หน้าต่าง ถนนลูกรัง มีพัดลมเล็กๆ วิ่งระยะทางสั้นๆ กรุงเทพฯ – นครปฐม ในขณะนั้น ก่อนจะพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นรถแอร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น"สมบัติทัวร์" เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ปัจจุบัน สมบัติทัวร์ มีเส้นทางเดินครอบคลุมหลายภูมิภาค 30 เส้นทาง ส่วนใหญ่กว่า 80% ยังเป็นภาคเหนือ ที่เหลือเป็นภาคใต้และภาคอีสานสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ 10% อีกส่วนเป็นรถข้ามภาคเช่น เชียงใหม่ –หัวหิน ,ภูเก็ต-ขอนแก่น, นครพนม-เชียงราย บริษัทมีรถวิ่งประมาณ 300 คัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปี 15 % แผนในต้นปีนี้จะเพิ่มจำนวนรถ 12 คัน โดยมีผู้โดยสารต่อวันประมาณ 5,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำตลาด จับลูกค้ากลุ่มข้าราชการ เช่าเหมา ฯลฯ และภายในปีนี้มีแผนจะขยายเส้นทางเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

"ทวี วงศ์บพิธ" กรรมการบริหาร สมบัติทัวร์ เปิดใจกับคอลัมน์ "ซีอีโอ โฟกัส"ว่า ช่วง 5 ปีนี้ ต้องยอมรับว่าการแข่งขันสูงจริง ๆ ทั้งรถส่วนตัวที่เพิ่มขึ้น และยังมีโลว์คอสต์แอร์ไลน์รถไฟฟ้าความเร็วสูง บริษัทในช่วงที่ผ่านมาจึงต้องปรับตัว โดยพยายามที่จะยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางรถยนต์ เพราะเราอยากเป็นผู้นำด้านความปลอดภัย จึงไม่ได้เน้นไปเรื่องเป้าเติบโตว่าแต่ละปีต้องโตกี่เปอร์เซ็นต์

กลยุทธ์ของสมบัติทัวร์ คือ การให้บริการที่เข้าไปนั่งในใจผู้โดยสาร คำนึงถึงความปลอดภัยมาก่อน คือไม่ว่าจะมีผู้โดยสารคนเดียว หรือกี่คน ตามสโลแกนที่ว่า"มิตรแท้ เพื่อนเดินทาง "เมื่อปลายปีที่แล้ว สมบัติทัวร์ยังได้เปิดตัว "เวียงพิงค์บัส" รถทัวร์ซูเปอร์วีไอพี จำนวน 20 ที่นั่ง ด้วยบริการแบบเก้าอี้ระบบไฟฟ้าแบบหนึ่งที่นั่งหุ้มด้วยกำมะหยี่ มีทีวีส่วนตัว ที่ชาร์จแบตโทรศัพท์แบบสาย USB และไฟอ่านหนังสือส่วนตัว เที่ยว กรุงเทพ-เชียงราย, เชียงราย-กรุงเทพ ในราคาต่อที่นั่งเพียง 850 บาท เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตลผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะลูกค้าบางส่วนก็ยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อแลกกับความสะดวกสบายและปลอดภัย

สำหรับรถพรีเมียม (ซูเปอร์วีไอพี) บริษัทยังมีไม่ถึง 1% แต่จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 15% ภายในปีนี้ ส่วนรถวีไอพีมี 30-40 % ในปีนี้ บริษัทจะลงทุนปรับปรุงรถประมาณ 50 คันเพื่อทดแทนรถที่เสื่อมคุณภาพ

โจทย์ท้าทายสำหรับเขา คือการมุ่งมั่นพัฒนาการคมนาคม ไปสู่การเดินทางที่ไร้รอยต่อ กล่าวคือ ตั้งแต่ออกจากบ้านไปถึงปลายทาง ผู้โดยสารซื้อตั๋วลงจากสถานีขนส่ง ไม่ต้องยืนโบกมือเรียกรถ แต่เราจะมีรถแท็กซี่ หรือรถตู้ มอเตอร์ไซค์ บริการส่งต่อได้ถึงจุดปลายหมายอย่างปลอดภัยเป็นวันสต็อปเซอร์วิส รวมไปถึงการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี-ฟินเทคเข้ามาช่วยเรื่องการควบคุมจีพีเอส วงจรปิด เพิ่มความรวดเร็วในการซื้อตั๋วโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น การจองที่นั่ง และตัดวงเงินจากบัตรเครดิต โดยขณะนี้ลูกค้าสามารถชำระตั๋วผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เซเว่นอีเลฟเว่น ได้แล้ว

"การลงทุนเทคโนโลยีผ่านมือถือ จำเป็นต้องอาศัยพันธมิตรเยอะไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับโรงแรม แท็กซี่ กระทั่งคู่ค้าที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน การเปลี่ยนรถหรือในระหว่างที่รับประทานอาหาร ทั้งหมดหากผนึกพันธมิตรร่วมกันได้ ก็จะเชื่อมโยงใยเป็นเครือข่ายในการเดินทาง "

"ทวี" เล่าว่า เขาเข้ามาสานต่อกิจการ ด้วยการรับหน้าที่ เป็นกรรมการบริหาร ดูแลในส่วนงานซ่อมบำรุง รถรับจ้าง และรถประจำทาง ธุรกิจครอบครัวของตระกูล ถูกจัดสรรให้อยู่ในความดูแลของลูกๆ หลานๆ โดยผู้เป็นพ่อ (สมบัติ ตัณฑลีลา) ฝึกให้ทุกคนรู้พื้นฐานของงานตั้งแต่ การรู้จักรถ ต้องรู้จักเกียร์ ช่วงล่างรถทำงานอย่างไร ต้องลงไปอยู่กับอู่อย่างน้อย ๆ 5 ปี เปื้อนน้ำมันเครื่อง เพราะเขามองว่าการเดินทางที่ปลอดภัย เบื้องต้นรถยนต์ต้องดีก่อน

"เราเติบโตมาจากครอบครัวคนจีนเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ต้องประหยัด เป็นการสร้างพื้นฐานในเรื่องหลักบริหาร โดยมีคุณพ่อเป็นแบบอย่าง ... "ผมยึดคำสอนท่านมาตลอด คือ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ซึ่งยังใช้ได้เสมอถึงทุกวันนี้จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกและเราก็อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน" ทวี กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560