จุฬาฯลุยเพิ่มคอร์สออนไลน์ รับมือคนเรียนหนีไปศึกษาต่อต่างประเทศ

03 ก.พ. 2560 | 01:00 น.
คนรุ่นใหม่เมินเรียนบริหารธุรกิจมหา’ลัยในไทยมุ่งออนไลน์-ต่างประเทศมากขึ้น คณะพาณิชย์ฯ จุฬาวาง 3 แนวทางรับมือก่อนคนเรียนลดลง พร้อมนำร่อง19 วิชาเรียนออนไลน์

การพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนให้เข้าสู่ของโลกดิจิตอล ส่งผลให้ระบบการศึกษา ได้เกิดหลักสูตรการเรียนการสอนทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ที่เห็นชัดเจน คือ การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยออนไลน์แห่งแรกของโลก อย่าง ISDI หรือ Indian School of Design & Innovation ในประเทศสเปน ที่กลายเป็นทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ที่ชอบใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ ก่อนหน้านี้สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้เพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทั้งสถาบันจากต่างประเทศและในประเทศไทย เพราะแนวโน้มจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนตามสถาบันในระบบปกติมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยดังกล่าวถือว่าส่งผลกระทบต่อระบบการเรียนการสอนปกติ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาของไทย ที่ก่อนหน้านี้ก็เผชิญกับคู่แข่งในต่างประเทศมากอยู่แล้ว การเกิดขึ้นของหลักสูตรออนไลน์จึงกลายมาเป็นตัวแปรต่อการแข่งขันของสถาบันการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เทรนด์คนรุ่นใหม่จึงลดการเรียนการสอนในสถาบันในประเทศแบบหลักสูตรปกติ นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ต้องการเรียนเพื่อนำความรู้มาประกอบวิชาชีพอิสระ หรือการเป็นเจ้าของกิจการ มากกว่าการมุ่งเรียนจบออกมาเพื่อเป็นพนักงานประจำ สถาบันการศึกษาจึงต้องพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าวด้วย โดยมุ่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้บัณฑิตจบออกมามีแนวคิดเป็นผู้ประกอบการมากขึ้นด้วย

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทางคณะพาณิชยศาสตร์ฯ ได้วางแนวทางไว้ 3 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนานิสิตในรูปแบบใหม่ ที่เน้นทักษะความรู้ความสามารถในเชิงธุรกิจที่สามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างครบถ้วน มากกว่าการเรียนการสอนแบบรายวิชา 2. การสร้างแบรนด์ของคณะ ด้วยการรีแบรนด์จากคณะพาณิชยศาสตร์ฯ สู่แบรนด์Flagship for Innovation Wisdom และ 3. การพัฒนาบทบาทของคณะไปสู่ระดับนานาชาติ

ขณะเดียวกันยังได้เตรียมเปิดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรและวุฒิบัตรแก่บุคคลภายนอกผ่านระบบออนไลน์ จากเดิมที่เปิดเฉพาะนิสิตและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งมีจำนวน 19 รายวิชา ใช้เวลาเรียน 3 ชั่วโมง วิชาละ 600 บาท ส่วนแนวโน้มนักศึกษาที่เข้าเรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์ฯ ในระดับต่างๆ ยังไม่ได้ลดลง เพราะชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่ยังได้รับความนิยม แต่แนวทางต่างๆ ที่ได้ดำเนินการเป็นการเตรียมความพร้อม

ด้านนายมารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถาบันการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวังจากสถาบันการศึกษา มี 2 เรื่อง ได้แก่ อาจารย์จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีคิด จากการเป็นผู้สอน เป็นผู้ที่คอยสนับสนุนและผู้ที่คอยกระตุ้นให้นักศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องการ ขณะที่สถาบันการศึกษาจะต้องพัฒนาระบบการศึกษาให้รวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ การลดให้ความสำคัญกับคะแนนหรือเกรด เพื่อลดความตึงเครียดในการเรียนการสอน

"สถาบันการศึกษาถ้าไม่ปรับเปลี่ยน คนจะเรียนน้อยลง ซึ่งภาคเอกชนมีความต้องการบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้ต้องการคนเก่งด้านวิชาการ แต่ต้องมีความพร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ๆ แล้วไปปรับใช้กับธุรกิจ บริษัท โออิชิฯ มีการพัฒนาทักษะของพนักงานอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะทักษะและวิธีคิดในเรื่องการบริการและการทำงาน แม้ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานรวมกว่า 1 หมื่นคนทั้งประจำและพาร์ตไทม์ในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งต่อไปจะปรับพนักงานชั่วคราวเป็นพนักงานประจำมากขึ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560