แผน 3 ปีค่ายรถยนต์ ญี่ปุ่น-ยุโรปมั่นใจ เสริมไลน์โปรดักต์

03 ก.พ. 2560 | 13:00 น.
สำรวจแผนงานระยะสั้น 3 ปีของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ทั้งลงทุนใหญ่ และปรับสายการผลิต “โตโยต้า” ชัดเจนในแนวทางไฮบริด “ซูบารุ”ตั้งโรงงานใหม่ ฝั่ง “บีเอ็มดับเบิลยู” จัดสรรการระบบผู้ผลิตชิ้นส่วนหวังลดต้นทุน

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นภาคธุรกิจใหญ่ มีการเตรียมงานวางแผนล่วงหน้าเกิน 10 ปี ซึ่งค่ายรถยนต์หลักของโลกต่างมาตั้งฐานผลิตในเมืองไทยและยึดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคนี้ ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น นำโดยพี่ใหญ่ “โตโยต้า” ในปีที่ผ่านมาออกตัวชัดเจนว่าต้องการผลักดันรถยนต์ไฮบริดอย่างจริงจัง โดยต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย พร้อมจะลงทุนเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท และต้นปีนี้ประธานใหญ่ก็ออกมาย้ำอีกครั้ง “เราอยากให้ไทยเป็นตลาดของรถยนต์ไฮบริดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเป็นฐานผลิตที่สำคัญทั้งเพื่อขายในประเทศและส่งออก” เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยกล่าว

ปัจจุบันโตโยต้ามี “คัมรี ไฮบริด” ทำตลาด และมีโอกาสเห็นครอสโอเวอร์ “ซีเอช-อาร์” เป็นไฮบริดรุ่นต่อไป
ขณะที่“ซูบารุ”มีข่าวใหญ่ เมื่อ“ฟูจิ เฮฟวี อินดัสตรี” ประกาศตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย โดยร่วมมือกับ “ตันจง กรุ๊ป” ถือหุ้นในสัดส่วน 25.1% กับ 74.9% ตามลำดับ เพื่อผลิตเอสยูวีรุ่น “ฟอร์เรสเตอร์” ในปี 2562 โดยโรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตเต็มที่ 1 หมื่นคันต่อปี

ด้าน “ฮอนด้า” หลังเปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ที่ จ.ปราจีนบุรี ล่าสุดย้าย “แจ๊ซ” และ“ซิตี้” จากโรงงานนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา มาผลิตที่โรงงานใหม่แห่งนี้ ร่วมกับ“ซีวิค”ซีดานและแฮทช์แบ็ก

ส่วน“นิสสัน”เพิ่งเปิดอีโคคาร์รุ่นที่ 3 คือ “โน๊ต” พร้อมทำตลาดคู่กับ “มาร์ช” และ “อัลเมรา” และช่วงครึ่งหลังของปีนี้เตรียมขึ้นไลน์ผลิตเอสยูวีรุ่นใหม่ที่ใช้พื้นฐานการผลิตร่วมกับปิกอัพนาวารา ที่โรงงาน บางนา กม.22

“ซูซูกิ”เตรียมเปิดตัว “สวิฟท์ อาร์เอ็กซ์2” ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ถือเป็นเวอร์ชันสุดท้ายของอีโคคาร์รุ่นดัง ก่อนโฉมใหม่จะพร้อมขึ้นไลน์ผลิตและทำตลาดต้นปีหน้า ขณะเดียวกันยังมีแผนเสริมรถยนต์รุ่นใหม่หรือน่าจับตามองครอสโอเวอร์ “อิกนิส”(Ignis) ที่กำลังขายดีในตลาดโลก

ข้ามมาที่ฝั่งยุโรป เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู เริ่มปรับการผลิตที่โรงงานอย่างน่าสนใจ รายแรกยึด 2 โรงงานของธนบุรีประกอบรถยนต์ หวังเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ผลิตในประเทศมากขึ้น ส่วนรายหลังมีโรงงานใหญ่ที่จังหวัดระยอง สามารถผลิตได้ทั้ง รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู มินิ มอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นโรงงานที่ยืดหยุ่นมากที่สุดของค่ายใบพัดสีฟ้า ล่าสุดปรับไลน์เพื่อรองรับรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด ทั้ง ซีรีส์ 3 เอ็กซ์ 5 และซีรีส์ 7 ขณะเดียวกันยังปรับการบริหารจัดการผู้ผลิตชิ้นส่วนใหม่ โดยใช้การส่งมาจากผู้ผลิตในประเทศโดยตรง

ด้านพี่ใหญ่ “โฟล์คสวาเกน” ที่สะดุดไปเล็กน้อยเกี่ยวกับแผนลงทุนในไทย แต่ล่าสุดยังไม่ถอดใจ พร้อมเดินหน้าลุยโครงการอีโคคาร์เฟส 2 มูลค่า 3.8 หมื่น ล้านบาท แต่กว่าจะเห็นหน้าเห็นหลังคงใช้เวลามากกว่า 2 ปี พร้อมลุ้นการผลิตและทำตลาดปิกอัพอีกหนึ่งรุ่น

ฝั่งอเมริกา “ฟอร์ด” เป็นหนึ่งในค่ายรถยนต์ที่มีตัวเลขยอดขายเป็นบวกเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยเส้นเลือดใหญ่เรนเจอร์ ที่เพิ่งย้ายการผลิตจากโรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ (ฟอร์ดร่วมทุนกับมาสด้า) มายังโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่งของตนเองตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ส่วนอีโคคาร์เฟสสองพร้อมเดินตามแผน ซึ่งต่างจาก “เชฟโรเลต” ที่ถอนตัวจากโครงการดังกล่าว และมุ่งหน้าผลิตและทำตลาดปิกอัพ “โคโรลาโด” และเอสยูวี(พีพีวี) “เทรลเบลเซอร์” เป็นหลัก

….นั่นเป็นการสรุปแผนงานระยะสั้นของค่ายรถยนต์ ที่ช่วงนี้ตลาดอยู่ในภาวะทรงตัว จึงมีเวลาปรับปรุงหลังบ้านพร้อมเพิ่มศักยภาพของโรงงานผลิต และรอเวลาตลาดกลับมาฟื้นตัว ก็สามารถเดินเครื่องได้เต็มสูบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560