ดันตั้งเขตศก.พิเศษ6จังหวัด ขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีให้เกิดนำร่องขอนแก่น

03 ก.พ. 2560 | 02:30 น.
สานพลังประชารัฐ ดัน 6 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหมือนอีอีซี ไล่ตั้งแต่ ขอนแก่น นครสวรรค์ อุดรธานี กำแพงเพชร สมุทรสาครและนนทบุรี ปูทางให้ไบโออีโคโนมีได้เกิดลงทุน 3.6 แสนล้านบาท ด้านมิตรผล ยันมีพื้นที่พร้อมให้เป็นพื้นที่นำร่อง

ภายหลังการลงนามความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวม 23 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา โดยการผลักดันของคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้สานพลังประชารัฐ มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี

โดยตั้งกรอบการลงทุนในระยะ 10 ปี(2560-2569) ไว้ 3.65 แสนล้านบาท จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 7.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนตำแหน่ง

ทั้งนี้ การดำเนินงานจากนี้ไปทางคณะทำงาฯดังกล่าว จะมีการเร่งผลักดันให้คณะรัฐมนตรี ประกาศพื้นที่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุดรธานี สมุทรสาคร และนนทบุรี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ทางคณะทำงานฯอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดในแผนศึกษาการลงทุนของจังหวัดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นมาแล้ว ที่จะให้มีการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คล้ายกับกรณีของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่เห็นว่ายังมีพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในการรองรับหรือขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น จะมีการจัดทำเป็นแพ็กเกจของแต่ละจังหวัด เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีพร้อมๆกัน

นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานฯได้มีการเสนอพื้นที่กว่า 1,000ไร่ อ.บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ไปยังนายสมคิด จาจุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร เป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมีก่อน เนื่องจากมีความพร้อมด้านพื้นที่ปลูกอ้อย มีแหล่งน้ำรองรับการพัฒนา มีระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน มีแรงงาน และมีความพร้อมของเครือข่ายของสถาบันการศึกษาในพื้นที่

ทั้งนี้ หากประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว การลงทุนก็จะได้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับอีอีซี โดยระยะแรกจะเป็นการดึงนักวิจัย เข้ามาอยู่ในพื้นที่ก่อน เพื่อทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และนำผลการวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป และหลังจากนั้นถึงจะเตรียมความพร้อมสร้างไบโอรีไฟเนอรี่ คอมเพล็กซ์หรือโรงกลั่นชีวภาพขึ้นมา เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง 13 โครงการ เป็นต้น

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS หนึ่งในภาคเอกชนที่จะรวมขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งคอมเพล็กซ์ไบโอชีวภาพ ในพื้นที่อ.ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ บนเนื้อที่ราว 1 พันไร่ ที่ติดกับโรงงานน้ำตาล ร่วมกับบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการลงทุนในส่วนของการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลก่อน ขนาดกำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน ส่วนการต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นกำลังศึกษาว่าจะมีประเภทใดบ้าง ซึ่งเงินลงทุนคราวๆ ที่วางไว้จะไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทจะถือหุ้นในโครงการนี้ประมาณ 50%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560