โลว์คอสต์แห่ซื้อฝูงบิน รับมือแข่งดุชิงเค้กสายการบินอาเซียน

02 ก.พ. 2560 | 05:00 น.
สายการบินต้นทุนต่ำของอาเซียน นำโดย แอร์เอเชีย ไลอ้อนแอร์ และเซบูแอร์กำลังแข่งขันเพิ่มฝูงบินกันอย่างเข้มข้นภายในปีนี้ คาปา เตือนผลกำไรสายการบินมีสิทธิ์ร่วง

คาปา (Centre for Asia Pacific Aviation-CAPA) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริการข้อมูลข่าวสาร การวิจัยตลาดด้านการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและงานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้อง ก่อตั้งขึ้นในปี2533 มีสำนักงานใหญ่อยู่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย รายงานว่าจำนวนเครื่องบินของสายการบินต้นทุนต่ำในอาเซียนจะขยายตัวเร็วขึ้นในปีนี้ หลังจากที่การขยายตัวของฝูงบินชะลอตัวในปีที่แล้ว

บริษัทคาปาเซ็นเตอร์ฟอร์เอวิเอชัน ซึ่งเป็นผู้ทำการศึกษาการตลาดการบิน ระบุว่าในรายงานที่เผยแพร่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าในปีที่แล้ว สายการบินต้นทุนต่ำ 21 สายของอาเซียน ซึ่งมีสายการบินชั้นนำอาทิ แอร์เอเชีย เซบูแปซิฟิก และไลอ้อนแอร์ รวมกันมีเครื่องบิน 623 ลำ เพิ่มขึ้น 41 ลำเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งถือเป็นการขยายฝูงบินที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนหน้า

หนังสือพิมพ์ฟิลิปปินเดลี่เอ็นไควเรอร์ อ้าง คาปาระบุว่า ในปี 2557 สายการบินต้นทุนต่ำของอาเซียนมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้นรวม 61 ลำ ปี 2558 เพิ่มขึ้น 67 ลำส่วนปี 2560 นี้คาดว่าจะมีการเพิ่มเครื่องบินรวม 80 ลำ เพิ่มขึ้น 11 % เมื่อเทียบกับปี 2559 แม้ว่าในปี 2560 นี้สายการบินเซบูแปซิฟิกของฟิลิปปินส์ จะมีการเพิ่มเครื่องบินเพียง 2 ลำ เนื่องจากสายการบินในประเทศอื่นมีการเพิ่มเครื่องบินในปริมาณที่สูง

รายงานของคาปา ระบุว่าสาเหตุที่สายการบินต้นทุนต่ำชะลอการเพิ่มจำนวนเครื่องบินในปี 2559 เนื่องจากกลัวปัญหาที่นั่งบนเครื่องบินล้นความต้องการ แต่ในปี 2560 นี้สายการบินต้นทุนต่ำหลายสายมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนตลาด หลังจากที่สายการบินให้บริการเต็มรูปแบบรุกการตลาดเพื่อแย่งสัดส่วนตลาดจากสายการบินต้นทุนต่ำ

รายงานระบุเหตุผลที่ สายการบินเซบูแปซิฟิก เพิ่มเครื่องบินเพียง 2 ลำในปีนี้ทั้งที่มีนโยบายขยายสัดส่วนตลาดว่า “สภาพของตลาดในฟิลิปปินส์ หนุนการขยายตัวมากกว่านี้ แต่เซบูแปซิก เลือกที่จะรอรับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ 321 นีโอเซบูฯ จะได้รับมอบเครื่องบินเอ 321 นีโอ จำนวน 8 ลำ

รายงานของคาปาระบุว่า สายการบินต้นทุนต่ำ ควบคุมการขยายตัวของปริมาณที่นั่งบนเครื่องบินในปี 2559 เนื่องจากสัดส่วนตลาดลดลงเป็นปีที่ 2 เมื่อเทียบกับสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ โดยสายการบินต้นทุนต่ำมีตัวเลขสัดส่วนตลาดรวมอยู่ที่ 53 % หลังจากสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบเพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับเที่ยวบินระยะใกล้ในอัตราที่เร็วกว่าสายการบินต้นทุนต่ำ

รายงาน ระบุว่าสัดส่วนตลาดของสายการบินต้นทุนต่ำในปี 2560 นี้จะขยายตัวขึ้นตามการขยายตัวของฝูงบิน โดยการเพิ่มขึ้นของเครื่องบินลำตัวแคบในปี 2560 จะขยายตัวอย่างมากในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และจะมีอัตราการขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2558 โดยคาปาเตือนว่าการเร่งขยายฝูงบินจะมีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท

คาปา วิเคราะห์สภาพตลาดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ว่ายังเป็นตลาดที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ยังขยายตัวได้ดี มีการขยายตัวของชนชั้นกลางค่อนข้างสูงทำให้เกิดการเดินทางโดยเครื่องบินเพิ่มขึ้น แต่จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินที่จะขยายตัวมากกว่าความต้องการ จะเป็นความเสี่ยง สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่เลือกนโยบายเร่งเติบโตด้วยการขยายฝูงบิน

“การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทำให้มีแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทน สำหรับทั้งสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินบริการเต็มรูปแบบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรของกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดย จะเห็นว่าในปี 2559 ตลาดยังแข่งขันกันรุนแรงแม้การขยายฝูงบินจะมีอัตราต่ำ

คาปาทำนายว่า เมื่อดูจากสภาพในปี 2559 แล้ว เมื่อสายการบินต้นทุนต่ำเร่งขยายฝูงบินในปี 2560 นี้แล้ว การหาลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มจะยากขึ้น ทำให้ปัญหาที่นั่งล้นจะหนักขึ้นและมีผลกระทบต่อกำไรมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560