เร่งฟื้นฟูภาคเกษตรปักษ์ใต้ ชาวนาขอพักหนี้5ปีหลังน้ำท่วม

02 ก.พ. 2560 | 08:00 น.
เกษตรฯ โชว์มาตรการเยียวยา พร้อมกางโรดแมปอุ้มเกษตรกรหลังนํ้าท่วมใต้คลี่คลายด้าน สมาคมชาวนาฯ ผนึกสภาเกษตรกร ร่อนจดหมายถึง“ฉัตรชัย” 4 ข้อ เสนอแนะ สินเชื่อซื้อเมล็ดพันธุ์หลัง 3 ปีให้ชาวนาใช้หนี้คืน-พักเงินต้น-ดอกเบี้ย 5 ปี

ผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้ 12 จังหวัด นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2560 ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรร่วม 5 แสนราย พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบกว่า 1.11 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวกว่า 2.77 แสนไร่ พืชไร่กว่า 5.5 หมื่นไร่ และพืชสวนและอื่นๆ 7.78 แสนไร่

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ว่า กรณีได้รับผลกระทบ (พืช/ยางพารา/ปศุสัตว์/ประมง) จะได้รับเงินครัวเรือนละ 3,000 บาท ขยายระยะเวลาชำระหนี้ 6 เดือน ลดดอกเบี้ย 3% สำหรับลูกหนี้สมาชิกสหกรณ์ /กลุ่มเกษตรกร/ลูกหนี้กองทุนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ รวม 3.7 แสนราย สินเชื่อด้านประมงเป็นลูกหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย และจะมีจ้างงานชลประทาน 1.47 ล้านคนต่อวัน วันละ 300 บาท)

ส่วนกรณีเสียหายสิ้นเชิง ข้าว จะได้รับเงินชดเชยเยียวยา 1,113-3.335 หมื่นบาท/ราย พืชไร่ 1,148-3.444 หมื่นบาท/ราย ไม้ผล/ปาล์ม 1,690-5.07หมื่นบาท/ราย ยางพารา เสียหายบางส่วนชดเชย 1,690 -5.07 หมื่นบาท และทุนปลูกแทนไร่ละ 1.6 หมื่นบาท ส่วนสัตว์น้ำ (ประมง) ปลาทุกชนิด ชดเชย 4,224-2.1125 หมื่นบาทต่อราย กุ้ง/ปู/หอย ชดเชย 1.092 -5.46 หมื่นบาทต่อราย และกระชัง/บ่อ ชดเชย 315 -2.52 หมื่นบาทต่อราย

"นอกจากนี้ยังมีโรดแมปการช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ ของกระทรวงที่มีเป้าหมายเพื่อให้การดำรงชีวิตของเกษตรกรกลับสู่ภาวะปกติหรือพัฒนาให้ดีกว่าเดิม โดยจัดเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 5,470 นาย อาทิ บริการคลินิกเกษตร 5 แสนราย จะมีทั้งคลินิกพืช สัตวแพทย์และประมง จะจัดเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเพิ่มเติมให้ 120 นาย เพื่อดูแลสุขภาพสัตว์/ป้องกันโรค และเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เกษตรลุ่มต่ำ เช่น พื้นที่ปลูกส้มโอทับทิมสยาม และอื่นๆ เป็นต้น โดยจะใช้ทั้งงบปกติและจะขอจากรัฐบาลเพิ่มเติม"

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ทางสมาคมร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ภาคใต้ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีข้อเสนอแนะ 4 ข้อคือ 1.ให้ชาวนารวมกลุ่มกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ เพื่อขอยืมเมล็ดพันธุ์จากรัฐบาล โดยให้มีการชำระคืนหลังจาก 3 ปีไปแล้ว 2.ขอพักชำระเงินต้นและหยุดคิดดอกเบี้ย จากสถาบันการเงินเป็นระยะเวลา 5 ปี 3.จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา 4.ให้บริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมทั้งในฤดูแล้งและในฤดูฝน โดยให้นำร่องที่ชาวนาภาคใต้ก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560