จี้งัด‘ม.44’ปราบโกง ‘อดีตป.ป.ช.-นักวิชาการ’เรียกร้องลดขั้นตอนฟันทุจริต

01 ก.พ. 2560 | 03:00 น.
“อดีตกรรมการป.ป.ช.-นักวิชาการ” เรียกร้อง “ประยุทธ์” ใช้มาตรา 44 ลดขั้นตอนเอื้อป.ป.ช.ขอข้อมูลทุจริตจากต่างประเทศเพื่อความรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกรบเร้าจากหลายฝ่ายให้ใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เข้ามาเร่งจัดการกับปัญหาการทุจริตเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ภายหลังเกิดกรณีสินบนข้ามชาติบริษัทโรลส์-รอยส์ จ่ายใต้โต๊ะให้ไอ้โม่งในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

ตอกย้ำด้วยภาพเครื่องบินการบินไทยจำนวนหนึ่งที่จอดทิ้งไว้เพื่อรอการขายที่สนามบินอู่ตะเภาภายหลังเครื่องบินดังกล่าวซื้อมาเพื่อให้บริการในเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก แต่หลังให้บริการเกิดขาดทุนจนต้องสั่งยกเลิกเส้นทางบินดังกล่าว สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการขององค์กรระดับชาติ อย่างการบินไทย

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นต่อเรื่องดังกล่าวคือ กลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชันพร้อมด้วยนายโยธิน ภมรมนตรี อดีตกัปตัน บริษัทการบินไทยฯ และอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้ใช้ มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการโดยเฉพาะเพื่อตรวจสอบและปฏิรูปการบินไทยทั้งระบบ

ขณะที่นายเมธี ครองแก้ว อดีตคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากประสบการณ์ในหลายคดีกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ใช้เวลานาน ซึ่งกรณีนี้กระทรวงยุติธรรมของอังกฤษเป็นผู้เปิดเผยข้อมูล หากสอบถามในฐานะป.ป.ช.ไม่ยากคงทราบรายชื่อได้ แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้การติดต่อระหว่างประเทศเพื่อที่จะนำข้อมูลมาใช้ในศาล ต้องทำผ่านองค์กรที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมาย นั่นก็คือ สำนักงานอัยการสูงสุด ดังนั้น แม้ว่าจะได้รายชื่อมาป.ป.ช.ก็ไม่สามารถนำมาใช้ในคดีได้ถ้าไม่ผ่านขั้นตอนอัยการสูงสุดก่อน

“จบเพียงแค่นี้คงไม่ยาก แต่อัยการต้องประสานไปที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ส่งต่อไปที่สถานทูตที่เกี่ยวข้อง จากนั้นทางสถานทูตจึงจะติดต่อไปที่กระทรวงยุติธรรมต้นสังกัดอีกที สรุปทำกลับไปกลับมา7-8 รอบ เสียเวลา ส่วนตัวเห็นว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ จะใช้ มาตรา 44เพื่อให้ ป.ป.ช.ขอข้อมูลโดยตรงเองได้ไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดเพื่อให้ส่งศาลได้โดยเร็วเพราะเป็นเรื่องกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศก็จะช่วยได้” นายเมธี ระบุ

สอดรับกับความเห็นของนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)กล่าวยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวกระทบกับค่าดัชนีคอร์รัปชัน ของประเทศที่ตกต่ำลง ถ้ายังไม่ทำให้เห็นว่า เอาจริงเอาจังจะกระทบมากขึ้นในปีหน้า ดังจะเห็นได้ว่า เรื่องนี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เขารู้ว่า มันมี แต่เราไม่ได้ทำอะไรที่ผ่านมาเราถึงสอบตก วันนี้ข้อมูลเปิดเผยออกมาแล้วระดับหนึ่ง ถ้าเราเดินต่อไม่ได้ หรือใช้เวลายาวนานเกินกว่าเหตุ เราจะกลายเป็นตัวตลก ถูกตั้งคำถามว่า มีการฮั้วหรือขอกันหรือไม่ ถูกมองว่าไม่มีน้ำยา เราเสียแน่นอน

“เห็นด้วยถ้าจะใช้ มาตรา 44 ทำเรื่องอำนาจการติดต่อต่างประเทศ และการชี้มูลความผิดให้ชัดเจน ให้เกิดความรวดเร็วก็เป็นเรื่องที่ดี”นายมานะ ระบุ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติรายงานดัชนีคอร์รัปชันประจำปี 2559 ไทยมีคะแนนลดลงจาก 43 คะแนนเมื่อปี 2558 เหลือ 35 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็ม ตกลงไปอยู่ที่ 101 จาก 176 ประเทศเป็นอันดับที่ 6 จาก 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ บรูไนมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ขณะที่เมื่อปี 2558 ไทยอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 168 ประเทศ เป็นอันดับ 12 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นลำดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สทป.) ตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องตั้งหลักให้ดี เรื่องนี้มีกรอบและกระบวนการที่ทำโดยกลไกปกติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการตามกระบวนการ แต่ถ้าตรวจพบสอบทั้งระบบแล้วยังทำไม่ได้ ติดด้วยเงื่อนเวลาต่างๆ ขณะที่ประชาชนมีความสงสัยในเรื่องนี้ การจะได้ข้อเท็จจริงมาได้เร็วจะทำได้อย่างไรผู้มีอำนาจก็อาจจะพิจารณา เพราะหากปล่อยให้ยืดยื้อ ใช้เวลานาน หรือจนคดีหมดอายุความ แบบนี้ก็ว่างเปล่า

“โดยหลักการ คือ ต้องทำให้เร็ว ด้านหนึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.ก็ทำงานเดินไป ขณะที่ ปตท.และการบินไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ การใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ทำงานคู่ขนานกันไปได้”

นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สะท้อนความเห็นว่า มีกลไกปกติที่ดำเนินการตรวจสอบอยู่แล้ว ดังเช่น ในส่วนของบริษัทการบินไทย และบริษัท ปตท. ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็มีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) คอยกำกับดูแลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกตรวจสอบพิเศษใดๆ เพราะถ้าใช้มากเกินไปจะกระทบความมั่นคงทางกฎหมายในอนาคตได้ ทั้งยังทำให้มองเป็นเรื่องของการเมืองได้ ดังนั้น ใช้กลไกปกติที่มีหน้าที่โดยตรงก็น่าจะเพียงพอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231
วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2560