ยุทธศาสตร์ศธ.ยุค“หมอธี” ปฏิรูปวงการครูตามแนวทางพระเจ้าอยู่หัว

30 ม.ค. 2560 | 04:58 น.
 

รัฐบาล คสช. หรือ ครม. ประยุทธ์ 4 ในวันนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี อย่างมีนัยสำคัญ “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” ถูกผลักดันตำแหน่งจากรัฐมนตรีช่วย เป็นรัฐมนตรีว่าการ

นี่คือจุดเปลี่ยนต่อวงการการศึกษาของประเทศ..

“การเข้ามาร่วม ครม. รัฐบาลชุดปัจจุบัน พูดจากความจริง ผมไม่ได้มาจากโควต้าทหาร ไม่รู้จักบิ๊กทหารคนไหนเลย ชีวิตผมส่วนใหญ่อยู่ที่อังกฤษ จนวันหนึ่งมีโอกาสเข้ามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558 และเป็นรัฐมนตรีว่าการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม”

น.พ.ธีระเกียรติ กล่าวก่อนจะเปิดใจสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตนี้ต้องทำให้สำเร็จในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการก็คือ การปฎิรูปวงการศึกษาของไทย เป็นปณิธานอันแรงกล้าหลังจากรับพระราชกระแสดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2555 ณ โรงพยาบาลศิริราช..

อย่าทิ้ง “ครู” ไว้ข้างหลัง

ปัญหาปัจจุบันคือ ครูมุ่งเขียนวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหาร เพื่อให้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น แล้วบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งเน้นการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทนระบบไม่ยุติธรรม เราต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือต้องถือว่าเป็นความดีความชอบหากคนใดสอนดี ซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมี Reward

พระราชกระแสดำรัสด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เป็นแรงบันดาลใจ ดังนั้นการเป็นเสนาบดีกระทรวงเสมา ต้องวางยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของชาติ ให้สอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ตามแนวทางกระแสพระราชดำรัส

กระทรวงเสมาได้ชื่อว่าเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างงบปี 2560 กระทรวงศึกษาธิการได้งบ 519,292 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 2,733,000 ล้านบาท ทว่าวงการการศึกษาของประเทศยังคงถอยหลังเข้าคลอง เข้าขั้นวิกฤติ

ครูบางส่วนเวลาสอนนักเรียนสอนไม่หมดแต่เก็บไว้บางส่วน หากนักเรียนต้องการรู้ทั้งหมดวิชา ก็ต้องเสียเงินไปสมัครเรียนพิเศษกับครูท่านนั้น จะเป็นการสอนในโรงเรียนหรือส่วนตัวก็ตาม

อีกพระราชกระแสรับสั่งด้านการศึกษา ฉายภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นข้อเท็จจริงทุกคนรับรู้แต่ได้แต่มองตาปริบๆ ด้วยผลประโยชน์บังตานักการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ วันนี้ถ้าไม่ทำในยุคที่รัฐบาล คสช. มีอำนาจ ไม่รู้จะทำได้อีกเมื่อไหร่ เนื่องจากรัฐบาลที่มาจากการเมืองคงไม่เปลี่ยนเพราะกระทบต่อฐานเสียง ประกอบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องมีฝ่ายค้าน แต่วันนี้ไม่มีต้องทำให้สำเร็จ

ส่วนรัฐบาลใหม่จะมาแก้ไขก็ต้องมีการวางแผนให้รอบคอบ อย่างน้อยถ้าเริ่มวันนี้และมีการเขียนกฎหมายกำกับให้มีการแก้ไขยาก

“ครู 4 แสนคน ในวันนี้ กำลังจะทยอยเกษียณอายุออกไปครึ่งหนึ่งภายใน10 ปีขณะที่ครูใหม่จ่อคิวประมาณ 2 แสนคน ในจำนวนใหม่นี้สามารถทำหน้าที่ครูภายใต้นโยบายใหม่คือเน้นการสอนในห้องเรียน

ด้วยแรงจูงใจทางด้านผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น การสอนมากชั่วโมงคือผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปหาเงินด้วยการเปิดติวหรืออัพวิทยฐานะเพื่อให้ได้เงินเดือนสูงๆ”

ทำทันที 5-10 ปี....

“เราเสียงบประมาณปีละ3.5 หมื่นล้านให้กับค่าวิทยฐานะ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาเป็นการจ่ายที่ไม่มีประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากครูเน้นไปที่ตำแหน่งและรายได้ ส่วนห้องเรียนและเด็กถูกทอดทิ้ง ต้องไปเรียนติว การปรับรูปแบบใหม่ด้วยแรงจูงใจค่าตอบแทนที่สูงขึ้นให้กับความเป็นครู จะช่วยดึงคนเก่งเข้ามาช่วยยกระดับการศึกษาของไทย การเปลี่ยนแปลงวงการการศึกษาต้องเห็นผลในระยะ 5- 10 ปี ข้างหน้า” รมว.ศธ.กล่าว

ยุทธศาสตร์การปฎิรูปครูเน้นแรงจูงใจด้วยเงินเดือนสวัสดิการและความเป็นอยู่ ยิ่งครูที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ยิ่งต้องจ่ายผลตอบแทนให้มากขึ้น นอกจากนี้บ้านพักครูที่ทรุดโทรมในต่างจังหวัดก็ต้องใส่งบประมาณเข้าไปปรับปรุงใหม่

น.พ.ธีระเกียรติ ขยายความจำกัดความครูที่กำลังพูดคือ ครูในโรงเรียน ครูในชนบทไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ตอนนี้ตนมอบหมายให้ศึกษาเรื่องแยกออกไปเป็นกระทรวงอุดมศึกษา

หลายคนอาจสับสนและมองว่างบประมาณกระทรวงเยอะแถมมีการก่อสร้างตึกอาคารมหาศาลนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ที่มีตนเป็นประธานรับทราบแล้วว่า ต่อไปการวัดบุคคลกรไม่ใช่แค่ความสามารถแต่ต้องดูศักยภาพเป็นหลัก

ไม่เพียงแต่มอบหมายเป็นนโยบาย และหารือกับปลัดกระทรวงฯ วันนี้มีการตั้งทีมงานศึกษาวางแผน ประกอบด้วยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันพัฒนาครูและผู้เชียวชาญจากประเทศญี่ปุ่น

ที่นำร่องไปแล้วในก.ค.ศ.มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลากรเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นรองและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยหลักเกณฑ์ใหม่ให้น้ำหนักการสอบข้อเขียนน้อยลง แต่จะเพิ่มเป็นเรื่องประวัติการทำงาน โดยมีผู้เชียวชาญมาประเมินศักยภาพผลงานในการเป็นผู้นำ ขณะเดียวกันจะใช้แนวทางนี้ในการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งแนวทางคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ใหม่ จะช่วยคัดคนทำงานได้ตามเหมาะสมและเป็นธรรม

ยกย่ององคมนตรีวางรากฐาน

แน่นอนอนาคตแนวโน้มในการผลิตครูจะปรับเปลี่ยนไปอย่างเป็นรูปธรรม ต้องขอขอบคุณรมว.ศึกษา ฯ คนก่อนหน้าตนคือ พล.อ.ดาวพงษ์รัตนสุวรรณ องคมนตรี ที่มีการวางรากฐานเป็นอย่างดี โดยรัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนว่าสถาบันผลิตครูจะต้องผลิตครูที่จบการศึกษาออกมาแล้วทำงานได้ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และมีสมรรถนะที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง

โดยความคืบหน้าการประชุมคณะอนุกรรมการคุรุสภา และจัดทำร่างมาตรฐานอ้างอิงวิชาชีพครูอาเซียน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา น.พ.ธีระเกียรติ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุรุสภาดึงผู้เชียวชาญมาร่วมวิเคราะห์มาตรฐานวิชาชีพครูของไทย รวมทั้งสิ้น 11 มาตรฐาน

ประกอบด้วยความเป็นครู ปรัชญาการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรมจิตวิทยาสำหรับครูหลักสูตร

การจัดการเรียนรู้และการจัดชั้นเรียน การวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ การประกันคุณภาพการศึกษา และคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณ

“ให้เน้นไปที่วิเคราะห์ความสามารถวัดทักษะการสอนของครูได้มากน้อยแค่ไหน ให้ไปดูบริบทของชาติว่าจะทำอย่างไร ให้มาตรฐานวิชาชีพครูสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพครูของอาเซียน หลังจากนั้นจะนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่จะต้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพครู

การประชุมครั้งนี้ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม เพื่อให้มหาวิทยาลัยผลิตครูที่มี

สมรรถนะในการสอนที่ได้ มาตรฐานสอนแบบแอกทีพเลิร์นนิ่ง และต้องมีคุณลักษณะที่ดี มีความเอาใจใส่ใจเด็ก มีจิตวิญญาณความเป็นครู.. ชัดเจนครับคุณหมอ ไม่ใช่สิคุณครู!!!