Antpad ภูมิปัญญาชาวบ้าน สู่นวัตกรรมสร้างธุรกิจ

30 ม.ค. 2560 | 09:00 น.
Antpad หรือแผ่นรองกันมด คือ หนึ่งตัวอย่างของนวัตกรรมที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาภายใต้การทำธุรกิจในรูปแบบของเอสเอ็มอี โดย ศีรวิชญ์ บุญซื่อ เจ้าของผลิตภัณฑ์แผ่นรองกันมดที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้จากปัญหาใกล้ตัวที่เกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่นก็น่าจะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน!

 ไปสู่นวัตกรรมสร้างธุรกิจ

ศีรวิชญ์ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า Antpad วางจำหน่ายในตลาดเมื่อปี 2557 โดยเกิดจากความต้องการขจัดปัญหาเรื่องของมด ในที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียมแต่ไม่ได้ต้องการกำจัดจนถึงขั้นตาย จึงได้ทำการค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่ามดมีพฤติกรรมอย่างไร และไม่ชอบอะไร หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการคิดค้นสูตรต่างๆ มากมาย พร้อมกับทดสอบประสิทธิภาพในการใช้งานจริงจนได้สูตรที่ลงตัวในแบบที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ เพื่อนำมาพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ง่าย และสามารถนำมาจำหน่ายในตลาดได้ภายใต้แบรนด์ “Dreamleaf”

“หลังจากที่ได้สูตรป้องกันมดแล้ว จึงนำไปให้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอันดับต้นของประเทศเรื่องมด จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดสอบประสิทธิภาพพบว่าสูตรที่คิดค้นขึ้นมาคล้ายกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ป้องกันมดและสามารถใช้ป้องกันมดได้จริงโดยไม่มีอันตรายต่อมนุษย์จนได้รับรางวัลการันตีจากโครงการนวัตกรรมของสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอตุ สาหกรรมด้านนวตั กรรมและเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม”

ด้านนวัตกรรมที่ใช้อาจจะบอกไม่ได้ทั้งหมด แต่หากให้อธิบายอย่างง่ายคือ พื้นผิวที่สร้างขึ้นจากสารเคมีที่ปลอดภัย โดยเป็นสารเคมีที่ใช้ในเครื่องสำอางซึ่งตั้งใจเลือกมาเพราะมีความปลอดภัย โดยนำมาผสมกันแล้วเอามาใช้ในลักษณะที่เป็นผิวที่กันไม่ให้มดขึ้น

กลุ่มเป้าหมายในลำดับแรกที่มองไว้คือ กลุ่มของผู้ที่ชื่นชอบการปฏิบัติธรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ถือศีลและละเว้นการฆ่าสัตว์ แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มผู้ที่นิยมการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข และแมวเห็นถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ โดยนำไปใช้งานเป็นฐานในการรองภาชนะที่ใส่อาหารให้กับสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของแม่บ้านที่สะดุดตากับรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบให้มีสีสันสวยงามสามารถใช้งานได้จริงเป็นกลุ่มลูกค้าเพิ่มเติม ทำให้ Antpad มีการเติบโตทางด้านยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 ต่อยอดเพิ่มฐานลูกค้า

สำหรับช่องทางในการจำหน่าย Antpad ในปัจจุบันคือการทำตลาดผ่านช่องทางของออนไลน์เป็นหลัก โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ80% และเป็นลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัด 20% ซึ่ง ศีรวิชญ์ ให้เหตุผลว่า มาจากเรื่องของกำลังซื้อเป็นสำคัญ เพราะราคาจำหน่ายAntpad ต่อชิ้นถือว่าค่อนข้างสูงด้วยต้นทุนของวัสดุ และอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 2 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าAntpad จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งทางการตลาด จากกระแสตอบรับที่ดีของผู้บริโภคแต่ยังต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดการต่อยอด และขจัดข้อบกพร่องบางอย่างของผลิตภัณฑ์เดิมให้หมดไป โดยเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในปลายเดือนมกราคม 2 รูปแบบ ประกอบด้วย1. รูปแบบเดิมแต่จะเพิ่มเติมประสิทธิภาพในการใช้งานด้วยพื้นผิวที่เป็นยาง ขจัดจุดอ่อนเรื่องการลื่นไหล พร้อมเติมแต่งลวดลายให้มีรูปลักษณ์น่าใช้มากกว่าที่ผ่านมา โดยสามารถนำไปใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ได้

และ 2. ผลิตภัณฑ์แบบกลม ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการใช้งานเป็นที่รองขาโต๊ะ เนื่องจากเล็งเห็นความต้องการของลูกค้าที่มีจำ นวนมากจากการที่เคยมีผู้ประกอบการรายหนึ่งเคยทำ ไว้แต่ปัจจุบันหาซื้อได้ยากโดยมีการพัฒนารูปแบบของการใช้งานให้มีลักษณะการใช้งานกับโต๊ะได้หลากหลายประเภท และสามารถรองรับโต๊ะที่มีน้ำหนักมากได้ อีกทั้งยังจะมีการออกแบบให้ดูหรูด้วยวัสดุที่ไม่เหมือนของราคาถูกให้ดูดีมีระดับเหมาะกับการใช้งานจริง

 3-5 ปียอดขายโต 10 ล้าน

ศีรวิชญ์ เชื่อว่าจากการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ Antpad ในเวอร์ชันถัดมาทั้ง 2 รูปแบบจะช่วยเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายเป็น 3 ล้านบาทต่อปีได้ภายในปี2560 และในระยะกลาง 3-5 ปีจะสามารถทำได้ถึง 10 ล้านบาทต่อปีด้วยปัจจัยจากรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และการพัฒนาต่อยอดให้เกิดการใช้งานในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมในการขยายกลุ่มลูกค้า
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายช่องทางในการทำตลาดสู่รูปแบบของออฟไลน์ โดยการนำสินค้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าย่อยที่มีศักยภาพตามหัวเมืองใหญ่ เพื่อเป็นการแนะนำสินค้าให้เป็นรู้จักของกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่ช่วงปลายปีนี้จะมีการขยายตลาดออกไปสู่ต่างประเทศที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาแนวทางการทำตลาด และความเป็นไปได้ของแต่ละประเทศ โดยกลุ่มประเทศอาเซียนคือกลุ่มเป้าหมายหลัก เนื่องจากมีปัญหาในลักษณะที่คล้ายกันกับประเทศไทย

 เตรียมเป็นนิติบุคคล

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากเงินส่วนตัวที่ได้จากการทำงาน ยังไม่ได้ร่วมลงทุนกับบุคคล หรือบริษัท โดยดำเนินธุรกิจในลักษณะของบุคคลอยู่ ภายในปีนี้จะเริ่มจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้ธุรกิจมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยในเรื่องของภาพลักษณ์ที่จะดีขึ้นในสายตาของผู้บริโภคนอกจากนี้ ยังเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยการนำผลิตภัณฑ์ให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการวิจัย เพื่อรับรองผลการใช้งานด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231
วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2560