ศาสตร์ ศิลป์ ศรัทธา เทศกาลตรุษจีน ขนมธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงาม

29 ม.ค. 2560 | 01:00 น.
เทศกาลหรือประเพณีเป็นขนบธรรมเนียมที่ดีที่ยืดถือปฏิบัติและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน สะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในสมัยนั้นๆได้อย่างมีคุณค่า ที่สำคัญได้เห็นวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ก่อให้เกิดเป็นเรื่องราวอันสวยงามที่ทำให้เราผู้อยู่อาศัยในยุคปัจจุบันได้น้อมนำมาปรับใช้ให้เท่าทัน บนกรอบพื้นฐานความเชื่อและศรัทธาที่คงอยู่ และบทเรียนของการเดินทางหาความรู้ในครั้งนี้เราจะนำพาทุกท่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับเทศกาลหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประชาชนชาวจีน ชาวไทยเชื้อสายจีน ทั้งยังหลอมรวมเป็นหนึ่งในกรอบปฏิบัติของสังคมไทยที่ถือเป็นพหุสังคมที่ดีงามในหลากหลายแง่มุม อาทิ ความเป็นมา โทนสี ผลไม้มงคล สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนนิยมสักการะ และเกร็ดความรู้ต่างๆ เพื่อส่งต่อเรื่องราวอันดีงามของวัฒนธรรมดังกล่าว ให้อยู่เคียงคู่กับแผ่นดินสุวรรณภูมินี้ต่อไปอย่างสง่างาม “เทศกาลตรุษจีน”

MP323231-f "ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวกใช้ "วลีมงคลในการทักทายและอวยพรให้ ร่ำรวยมั่งคั่ง ตามธรรมเนียมปฏิบัติชาวจีนในเทศกาลตรุษจีน ซึ่งสามารถเรียกรอยยิ้มจากชาวไทยเชื้อสายจีนได้อย่างมีความสุข โดยเทศกาลดังกล่าวเป็นหนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติอันงดงามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า 4 พันปี ซึ่งในทุกปีจะเริ่มกำหนดเทศกาลดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีนเช่นกันและถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่าโดยในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2560

MP323231-a สำหรับธรรมเนียมปฏิบัติหรือการเตรียมตัวก่อนถึงเทศกาลตรุษจีนซึ่งคล้ายกับเทศกาลคริสต์มาสของประเทศฝั่งตะวันตกนี้ ผู้อยู่อาศัยจะเริ่มวางแผนด้วยการซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับและตกแต่งบ้านทั้งภายในและภายนอกเพื่อให้สถาปัตยกรรมภายในบ้านดูสดใหม่ สะอาด และน่าอยู่อาศัยด้วยความเป็นมงคล ซึ่งโทนสีที่เราพบเห็นและเป็นดั่งสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมดังกล่าวคือ สีแดงและสีเหลือง ซึ่งที่ทั้งสองมาจากตัวแทนธาตุไฟและธาตุดิน โดยสีแดงนั้นหมายถึงแสงสว่าง ความอบอุ่น พละกำลัง และความรุ่งโรจน์ เป็นสีแห่งความโชคดีและความสุขทั้งนี้สีดังกล่าวยังเป็นตัวแทนแห่งการส่งมอบความมั่งมีเงินทองของญาติพี่น้องหรืออั่งเปานั้นเองสำหรับสีเหลือง เป็นสีสัญลักษณ์ของห้าจักรพรรดิในตำนานของจีนโบราณนับได้ว่าโทนสีทั้งสองเป็นศาสตร์แห่งความเชื่อในการยกระดับและเสริมความเป็นมงคลชีวิตในเทศกาลปีใหม่จีนได้อย่างลึกซึ้ง

MP323231-d นอกจากการเตรียมที่อยู่อาศัย ในเรื่องของอาหารที่ใช้ในการนำมาไหว้และรับประทานร่วมกันนั้นทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีความหมายและนัยยะที่ดีสำหรับชีวิต ยกตัวอย่างเช่นหมวดหมู่อาหารเริ่มตั้งแต่ ไก่ เป็ด หมู เสริมในเรื่องความอุดมสมบูรณ์และความก้าวหน้าของชีวิต ทั้งนี้ด้านอาหารธัญพืชอย่างเช่น เม็ดบัว ถั่วตัด เกาลัด โดดเด่นเรื่องของการเงินและมีลูกหลานที่เป็นผู้ชายมาสืบต้นตระกูล ด้านผลไม้ที่เป็นมงคล อย่างเช่น ส้มสีทอง กล้วย สาลี่ และแอปเปิล เด่นชัดในเรื่อง ความโชคลาภ ความเพิ่มพูน ความสงบสุข และสุดท้ายกับขนมประเภทต่างๆ อาทิ ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมไข่ สนับสนุนให้ชีวิตมีความรุ่งเรือง เจริญเติบโตและโชคดีตลอดไป ถือได้ว่าเสน่ห์ของอาหารที่ถูกสรรสร้างให้มีความหมายที่ดีเปรียบดั่งศิลป์ของการใช้ชีวิตด้วยทัศนคติเชิงบวก

MP323231-b อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญของเทศกาลดังกล่าวคือการอัญเชิญและไหว้เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาหรือไท้ส่วยเอี๊ย ซึ่งเป็นความเชื่อของคนจีนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานว่า “การไหว้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยจะคอยคุ้มครองชะตาชีวิตให้แคล้วคลาดปลอดภัย จากอุปสรรคและความไม่ราบรื่นต่างๆโดยเฉพาะปีนักษัตรบางปีที่ตกปีชง ที่สำคัญจะเป็นส่วนสนับสนุนและเสริมในเรื่องความเจริญรุ่งเรืองทั้งครอบครัวและกิจการด้านการงาน” สำหรับในประเทศไทยชาวไทยเชื้อสายจีนสามารถสักการะเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาได้ในหลากหลายสถานที่ เช่น วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่, วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ , ศาลเจ้าพ่อเสือ วัดเมตตาธรรมโพธิญาณ และวัดอื่นๆ ในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทยและนี่คือหนึ่งความศรัทธาในการยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนสำหรับการดำรงชีวิตด้วยความมั่นคง

เทศกาลตรุษจีน ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีงามที่ได้ส่งไม้ต่อและบันทึกเป็นเรื่องราวแห่งการเรียนรู้หน้าหนึ่งประวัติศาสตร์โลก ที่เด่นชัดในเรื่องศาสตร์ ศิลป์ และศรัทธา หล่อหลอมเป็นต้นแบบทางความคิดในการผลิตทัศนคติที่ดีในการดำรงชีวิต ทั้งในแง่การคิดค้น คิดสร้าง และคิดดี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและประเทศชาติ ซึ่งภาพรวมและแง่คิดของประเพณีดังกล่าวคือความสวยงามที่เราทุกคนสามารถน้อมนำไปปรับใช้เพื่อสร้างความเป็นมงคลแก่ชีวิตต่อไป “????เห่ายวิ่นเหนียนเหนียน...โชคดีตลอดไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231
วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2560