ทหารพี่ใหญ่ต้องร่วมลงนาม ใช้ม.44บังคับปรองดอง

29 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
ในกระแสปรองดองระลอกใหม่ที่หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นในหลายทิศทางเพียงก้าวแรกก็ทำท่าสะดุดเสียแล้วนั้น “ถาวร เสนเนียม” รองประธานกรรมการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.) เปิดบ้านพักย่านพิบูลวัฒนา ริมคลองประปาสามเสน ขยายความท่าทีและจังหวะก้าวของกปปส.ในสถานการณ์ปรองดองภายใต้อำนวยการของคสช.ครั้งนี้ อย่างละเอียดยิบ

กำนันสุเทพ( เทือกสุบรรณ) พูดชัด เราพร้อมพูดคุย พร้อมให้ความร่วมมือ พร้อมปรึกษาหารือ ไม่ว่าจะในเรื่องการปฏิรูป เรื่องยุทธศาสตร์ หรือเรื่องการปรองดอง ส่วนเรื่องการลงนามในสัตยาบัน ไม่ใช่การตั้งแง่คือเราตั้งติ่งไว้ตรงนี้ เพื่อให้ผู้มีอำนาจจริง คิดกติกาที่จะนำไปสู่การบังคับใช้ให้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีประสบการณ์มาแล้วว่าจะถูกเบี้ยวเมื่อไหร่ก็ได้
บทเรียนนี้ทบทวนแล้วเราจึงตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ลงนาม เพื่อให้คสช.ซึ่งมีอำนาจตามม.44 เขียนบทบัญญัติบังคับว่าจะเกิดผลอะไรถ้ามีคนเบี้ยว คุณกล้าทำไหม เมื่อคุณเป็นพี่ใหญ่เรียกใครต่อใครมาประชุม บอกว่าเฮ้ย อั๊วจะเอาอย่างนี้เพื่อความก้าวหน้าของบ้านเมือง แต่ปรากฏว่าพี่ใหญ่พี่เอื้อยไม่มีผลบังคับที่จะลงโทษคนหนึ่งคนใดที่ผิดคำพูด ผิดสัตยาบัน ผิดเอ็มโอยู แล้วจะเกิดผลได้อย่างไรละ

เสนอใช้ม.44เขียนบทบังคับไว้ด้วย

ใช่ หรืออะไรก็ได้คุณไปคิดเกมมา ในเมื่อคุณจะเป็นพี่ใหญ่ของประเทศนี้ เอาละผมยกให้คุณเป็นพี่ใหญ่ที่สุดแล้ว ณ วันนี้ เพื่อไทยดูเหมือนจะโอเคอยู่นี่คุณกล้าไหม หรือรับผิดชอบแค่หน้าแตกเมื่อคนไม่ปฏิบัติตามเอ็มโอยู ไม่ได้ขัดขวาง พูดเสียงดัง ๆ ว่าให้ความร่วมมือ เพียงแต่หวังจะให้มีผลทั้งทางจิตวิทยา และการบังคับใช้

เหตุเกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองเกิดจากพวกคุณนั่นแหล่ะ ที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายแล้วปล่อยปละละเลยมาตลอด การผิดม.112 จากการกระทำของคนบางกลุ่ม ไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์หรือวิทยุชุมชน ผู้ที่รับผิดชอบคือ ตำรวจและทหารผู้รักษาความมั่นคงภายใน ผลปรากฏว่าคุณก็ปล่อยปละละเลยนั่นเอง คุณไม่ได้บังคับใช้กฎหมาย เป็นเหตุให้คนที่ทนไม่ได้ต้องออกไปต่อสู้กับคนที่ละเมิดสถาบัน

คนมองว่าความขัดแย้งเกิดจากนักการเมือง

ก็ทำไมไม่จัดการกับนักการเมืองที่ผิดกฎหมาย คุณไปเป็นทาสรับใช้เขาเอง เพราะอยากก้าวหน้าเป็นผู้นำในองค์กร ถ้าคุณปฏิบัติหน้าที่ เช่น อัยการปฏิบัติตัวให้เหมือนอัยการเกาหลีได้ไหม ตำรวจก็ให้เป็นตำรวจที่รับใช้ประชาชนตามกฎหมายได้ไหม มวลมหาประชาชนมาชุมนุมกันนับล้านคน ถูกขว้างระเบิด ถูกยิงเสียชีวิต 27 คน บาดเจ็บกว่า 200 คน ในห้วงเวลานั้นความกระตือรือร้นในการบังคับใช้กฎหมาย การจับกุมคนร้ายมีหรือไม่ ที่จะป้องกันไม่ให้มวลมหาประชาชนถูกยิงถูกขว้างระเบิด ไม่มี

ถ้าจะลืมเรื่องเก่าเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่ากัน แต่ขอให้มีผลบังคับใช้ พวกคุณทั้งหลายที่ถูกบังคับใช้ต้องจริงจังในการปฏิบัติหน้าที่

ใครต้องลงนามสัตยาบันบ้าง

เรื่องจะลงนามถามกลับว่าพวกพี่(แกนนำ)เซ็นในนามมวลมหาประชาชนหรือ มันไม่ใช่ ประชาชนมอบเราเมื่อไหร่กัน ตัวแทนประชาธิปัตย์ไปเซ็น แล้วไหนล่ะมติพรรค เพื่อไทยจะลงนามไหนละ พอลงนามเสร็จเบี้ยวกันขึ้นมาก็ว่า ผมไม่รับรู้ด้วยไม่ได้มอบหมายให้ไป การประชุมพรรคก็ไม่มี มติพรรคก็ไม่มี

พล.อ.ประวิตรบอกยังจัดกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลา เอาอย่างนี้ไหมก็ใช้ม.44ออกคำสั่งยกเว้นให้วันหนึ่ง ผ่อนผันชั่วคราวเฉพาะกิจ กำหนดลงไปเลยก็ได้ว่าระหว่าง 08.00 - 16.30 น.ของวันนี้ ๆ ให้เขาจัดประชุมพรรคเพื่อมีมติเรื่องการลงสัตยาบันสร้างความปรองดอง ให้มีมติกันเสียให้เสร็จในวันเดียว อย่างนี้ก็ทำได้ และจะดูศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น
ถามว่าทหารต้องลงไหม ใครก็ตามที่อยากเป็นพี่ใหญ่ต้องลงนาม ไม่ใช่ลงนามว่าจะไม่ปฏิวัติ ไม่ใช่ในฐานะคู่ขัดแย้ง แต่ลงนามในฐานะเป็นประธานผู้บังคับใช้เอ็มโอยูให้ศักดิ์สิทธิ์ มาร่วมรับรู้รับทราบว่าเกิดข้อตกลงแล้ว ในฐานะพี่ใหญ่กล้าหาญ มีความกล้าที่จะกระทำความดี กล้าทำความดีบังคับคนที่ลงนามแล้ว ท่านหนึ่งท่านใดที่มีบารมีมีความตั้งใจ ไม่ต้องกลัว มาเลยแล้วจะได้เป็นวีรบุรุษแก้ไขปัญหาชาติ

นอกจากนี้แล้วปลัดกระทรวงทุกกระทรวงต้องลงนามด้วย เพราะที่ขัดแย้งกันที่ผ่านมาเป็นเพราะกลไกราชการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขัน ปล่อยปละละเลยไม่จัดการความไม่ถูกต้องไปตามกฎหมาย ผู้คนเขาร้องหาความยุติธรรมจากระบบไม่ได้ก็ต้องลงเดินถนน อีกภาคส่วนหนึ่งคือ ตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพราะที่ผ่านมามีการใช้การเมืองเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และใช้ธุรกิจเอื้อประโยชน์การเมือง ก็ต้องมาลงนามด้วย

หัวหน้าคสช.น่าต้องมาลงนามเอง

ถ้าได้อย่างนั้นดีมาก กราบเรียนฯพณฯท่านด้วยความเคารพและจริงใจ ขณะนี้ท่านก้ำกึ่งจะได้เป็นรัฐบุรุษอยู่แล้ว

สัตยาบันเป็นข้อตกลงทางการเมืองไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย

ก็เขียนให้เป็นกฎหมายสิ อะไรบ้างที่เป็นกฎหมายไม่ได้ ทำไมต้องทำตามพิธีทุกเรื่องละ เช่น ก่อนมีรัฐบาลใหม่ ม. 44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เขียนเป็นกฎหมายสิ เขียนให้บังคับใช้ได้ ถ้าบอกว่าเป็นการเมือง เป็นเชิงรัฐศาสตร์ เป็นเชิงจิตวิทยาเท่านั้น ก็เล่นลิเกกันไป

พล.อ.ประวิตรบอกสัปดาห์นี้จะเชิญตัวแทนเข้าร่วมการปรองดอง กปปส.เตรียมไว้กี่คน

จะไปร่วมกี่คนก็แล้วแต่เขาเชิญมา ไม่ใช่อยากไปก็ไปได้ ไปนั่งเกะกะเขาก็ไล่ออก เขาจะมีหนังสือแจ้งมาเป็นตัวบุคคลเลย จะเสร็จตอนไหนอยู่ที่คสช. คนมีอำนาจมีหน้าที่ถ้ามีความตั้งใจที่จะเห็นบ้านเมืองสงบสุข มันก็เกิดประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง

โครงสร้างที่ควรเป็น 1.ต้องเอาความหลากหลายของผู้มีประสบการณ์และความรู้ 2. ตัวแทนคสช.ต้องมี ขาดไม่ได้ ถ้าไม่มีเดี๋ยวท่านไม่รับรู้ แกนนำคู่ขัดแย้งถ้าไปนั่งเป็นกรรมการด้วย ประชาชนจะเกิดความเคลือบแคลงว่าทำเพื่อผลประโยชน์ฝ่ายตนเองหรือไม่ เพียงแต่ไปให้ข้อมูลเท่านั้น ความจริงข้อมูลเขาเก็บหมดแล้ว เพียงแต่ทำเป็นพิธีการเท่านั้น

แต่ควรให้ความสำคัญในเรื่องความคิดของทุกฝ่าย ทั้ง นปช. กปปส. พันธมิตรฯ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายต่างให้ข้อเสนอแนะ ใครที่คิดว่าเป็นเงื่อนไขคนนั้นมองโลกแง่ลบ และไม่ใช่ข้อเสนอแนะที่ขัดกัน ถ้าไม่โอนอ่อนผ่อนตามคสช.แล้วคิดว่าขัด ไม่ใช่ครับ อะไรที่มองต่างคสช.บ้างไม่ใช่เป็นเรื่องขัด เราไม่กล้าขัดท่านอยู่แล้ว สนับสนุนท่านทุกเรื่องอยู่แล้ว ส่วนที่มีทหารมาเป็นกรรมการเยอะแยะ ผมไม่รังเกียจทหารที่มีความรู้ มีทัศนคติกว้างมาหน่อย ไม่รังเกียจ ไม่ติเรือทั้งโกลน แต่กรรมการต้องมีคนที่มีความรู้ที่หลากหลาย อย่างเช่นผู้ที่มีประสบการณ์คือนายคณิต ณ นคร

มีประสานบ้างหรือยัง

มีโทรศัพท์มาอ้างว่าเป็นตัวแทนหัวหน้า คสช. ก็บอกประเด็นมาบ้างแล้ว ผมก็ตอบรับว่าผมไปอยู่แล้ว เพราะไปให้ความคิดเห็นทางด้านปรองดอง ที่จริงทหารเคยเชิญผมไปแล้วครั้งหนึ่งที่หอประชุมกองทัพบก ตอนนั้นไปให้ความคิดเห็น มีระดับพล.ท. และพล.ต. เกือบ 10 คน ระหว่างคุยกันก็ส่งภาพส่งเสียงไปให้ หัวหน้าคสช. ดูด้วย เป็นช่วงปรับทัศนคติ ถ้าเป็นบรรยากาศอย่างนั้นก็ไม่กังวล

คสช.นำร่องปฏิรูปให้เห็นผลสักเรื่อง


ถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าข้อเรียกร้องปฏิรูปประเทศของกปปส. ว่า

เราเรียกร้องปฏิรูปบ้านเมือง 5-6 อย่าง แต่ถึงตอนนี้คสช.ยังไม่ได้ทำอะไรให้เห็นผลเลย รัฐบาลเพียงแต่เขียนเป็นกติกาเอาไว้ ยังจับต้องไม่ได้และโยนให้รัฐบาลหน้าไปปฏิรูป อยากให้คสช.นำร่องปฏิรูปให้เห็นผลชัด ๆ สักเรื่อง นักการเมืองเข้ามาจะได้ละอาย

"กปปส.เรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูประบบบริหารราชการ การศึกษา การเมือง แก้ความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ยังจับต้องไม่ได้ เพียงแต่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เขียนเป็นหลักการรายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)เท่านั้น เอามาทำให้เห็นเป็นตัวอย่างสักเรื่องได้ไหม ไม่ต้องมัวรอให้นักการเมืองหลังการเลือกตั้งมาทำ"

หลายเรื่องรัฐบาลบอกทำไปแล้ว แต่การเสนอข่าวสารให้ประชาชนรู้ว่าปฏิรูปเรื่องใดไปบ้าง ขั้นตอนไหน มีวัตถุประสงค์อย่างไร สปท.ไม่ได้ออกมาพูดในรายละเอียด ไม่ออกมาประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้ ถ้ามีผลงานต้องประชาสัมพันธ์ทั้งสองทางให้เกิดความรับรู้

"ส่วนเรื่องทางการเมืองเราอาจจะจัดได้ถ้าคสช.อนุญาต เช่น จัดเสวนาเพื่อหาข้อยุติในเรื่องการปฏิรูปบางเรื่อง ประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติหรือการปรองดอง ถ้าผมไม่กังวลว่าจะเพิ่มคดีที่โดนอยู่ 20 กว่าคดี ก็อยากจัดเสวนาเพื่อหาข้อยุติเสนอคตสช. เช่น เรื่องแก้ความเหลื่อมล้ำ กระบวนการยุติธรรม และการเมือง เป็นต้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,230 วันที่ 26 - 28 มกราคม 2560